11 ทักษะการทำงานของ “คนฉลาด” ที่บริษัท “ขาดไม่ได้”
หลายบริษัท เริ่มต้องพิจารณาแผนปรับลดคนหรือลดเงินเดือนแล้ว วิธีอยู่รอดคือ “พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่บริษัทขาดไม่ได้” ไปเรียนรู้กันครับว่ามีทักษะอะไรบ้างที่บริษัทขาดไม่ได้ มีดังนี้
ทักษะเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ เห็นด้วยไหมครับ หมายความว่าถ้าตอนนี้เราอาจจะยังถึงกับเป็นคนที่บริษัทขาดไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นไม่ได้ไปตลอดกาล ถ้าเรารู้ว่าคนเหล่านั้นมีทักษะอะไรบ้างและฝึกฝนให้เหมือนที่เขามี เราก็กลายเป็นคน ๆ นั้นได้เช่นกัน สำหรับผม ทักษะที่ว่าแบ่งได้เป็น 2 หมวดใหญ่ 11 หมวดย่อย ไปเรียนรู้กันครับ
เราคงได้ยินคำว่า Mindset กันบ่อย แต่สำหรับคำว่า Skill set อาจจะงง ผมไปลอง Search มาให้แล้วก็พบว่ามีคำอธิบายทางวิชาการมากมาย แต่เข้าใจยาก ผมชอบนิยามจากตอนที่ไปสัมภาษณ์พี่พอล เขาพูดไว้ว่า “Mindset” เปรียบกับน้ำในแม่น้ำในมหาสมุทร “Skill Set” เปรียบเหมือนเรือ Mindset ดี แข็งแรง ก็เหมือนน้ำในมหาสมุทรกว้างใหญ่ เชื่อมไปไหนก็ได้ในโลก Skill Set ดีก็เหมือนเรือประสิทธิภาพสูง แต่ต่อให้เรือใหญ่แค่ไหนแต่ไร้น้ำโอบอุ้ม ก็ไปไม่ถึงจุดหมาย เป็นคำอธิบายว่าทำไมคนทัศนคติดีมักประสบความสำเร็จในชีวิต แม้เขาจะเริ่มต้นจากศูนย์หรือติดลบ เริ่มจากมีน้ำที่กว้างใหญ่ แล้วก็พัฒนาเรือตัวเองต่อกันครับ
ปลายปีที่แล้วผมมีโอกาสได้เจอสาวน้อยคนหนึ่ง ตลอดครึ่งวันที่สัมมนาด้วยกัน ผมไม่รู้เลยว่าเธอคือ เด็กน้อยวัย 14 ที่ถูกรถไฟที่สิงคโปร์ทับจนต้องเสียขาทั้งสองข้างไป น้องธันย์ ณิชชารีย์ นอกจากท่าเดินที่พิเศษกว่าคนทั่วไปนิดหน่อย สิ่งที่ผมสัมผัสได้ มีแต่ความสดใสร่าเริงและมุมมองเชิงบวกจากน้อง น้องเล่าให้ฟังว่า เรียนจบป.ตรี ธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 ในสามปีครึ่ง กำลังจะไปเรียนที่จีน อยากเรียนดำน้ำเพิ่ม ขับรถเองและเพิ่งไปขับพาราไกลดิ้งมา ทุกวันนี้น้องมีรายได้หลักล้านจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและพูดสร้างแรงบันดาลใจ มีโครงการวิ่งให้ทัน ช่วยเหลือคนพิการ
ธันย์ให้สัมภาษณ์ได้น่าสนใจว่า “โลกสวยไม่ใช่การมองอะไรก็เป็นเรื่องดี แต่เป็นการมองโลกด้วยความเป็นจริง หาวิธีอยู่กับมันอย่างมีความสุข” น้องธันย์คือคำนิยามของ Positive thinking ของผม
ถ้าเรากำลังเครียด คิดลบจากสถานการณ์แย่ ๆ รอบตัวตอนนี้ อยากให้เอาเรื่องของน้องเป็นแรงบันดาลใจกันครับ
หนังสือ Outward mindset บอกเอาไว้ว่า
“ถ้าอยากเป็นคนที่คนอื่น ๆ รัก เราต้องรู้จัก 3 ไม่”
1. ไม่จดจ่อแต่ปัญหาของตัวเองจนไม่สนใจคนอื่น
2. ไม่คิดเอาเอง ช่วยตามความต้องการของเขา
3. ไม่ห่วงแต่เรื่องผลงาน
ถ้ายังจำเรื่องของนัทที่ผมเล่าให้ฟังในคอนเทนต์ พนักงานแบบไหน บริษัทอยากให้อยู่ต่อ ผมคิดว่า นัทก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่เราใช้มองตัวเองได้ครับ ยิ่งให้ยิ่งได้
หนังสืออีกเล่มที่กูรู วิทยากรนำมาใช้พูดถึงกันบ่อย ๆ คือ What Got You Here Won’t Get You There แปลไทยสไตล์เซนเซจะได้ว่า “อะไรที่พาเรามาจุดนี้ จะไม่พาเราไปต่อยังจุดใหม่” Growth Mindset หรือความคิดเชิงก้าวหน้า พัฒนาตนเองสำคัญมาก ๆ เพราะถ้าเราคิดว่าเรียน (มหาวิทยาลัย) จบคือจบการเรียนรู้ เป็นไปได้สูงมากว่าเรากำลังจะจบอนาคตของตัวเองไม่ให้ไปต่อจากจุดนี้
5 ขั้นตอนพัฒนา Growth Mindset ในหลักสูตร Changing for growth ของ Beyond Training มีดังนี้
1. ตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง
2. มีมุมมองที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง
3. สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยน
4. ลงมือทำเพื่อให้ผลลัพธ์เกิด
5. ตรวจสอบผลลัพธ์และเรียนรู้ตลอดชีวิต
ปี 2001 Takeru Kobayashi ชาวญี่ปุ่นสร้างปรากฏการณ์สะเทือนโลกด้วยการพาร่าง Six Pack ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม แข่งกิน Sausage ทำลายสถิติ เป็นชายที่กิน Sausage พร้อมขนมปังได้ 50 ชิ้นใน 10 นาที ในงาน Nathan’s on Coney Island มากกว่าสถิติเก่าเกือบเท่าตัว
วิธีกินของเขาที่ซ้อมกว่า 1 เดือนคือแยกขนมปังกับไส้กรอกออก กินไส้กรอกทีละสองชิ้นพร้อมกัน อีกมือเอาขนมปังจุ่มน้ำ น้ำที่อยู่ในขนมปังจะช่วยลดอาการคอแห้งและเวลาเคี้ยวได้มาก แถมไม่ต้องเสียเวลาและพื้นที่กระเพาะกับน้ำมากเกินไป เมื่อกินไส้กรอกเสร็จก็กินขนมปังชุ่มน้ำ ส่วนอีกมือที่ว่างก็เตรียมขนมปังและไส้กรอกชุดถัดไป
เหตุที่ Kobayashi ผู้ไม่มีแต้มต่อด้านร่างกายสามารถชนะได้คือการวางแผนและปรับปรุง
อีกทักษะที่ผมคิดว่าทุกคนต้องมีคือ “การแก้ปัญหา” เหตุผลง่าย ๆ คือ เราทุกคนล้วนมีรายได้และได้รับคำชื่นชมเมื่อแก้ปัญหาให้ใครสักคน หนังสือวิธีแก้ปัญหายากให้ง่ายที่คนเก่ง (บริษัทระดับโลก) ใช้ ให้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบไว้ 5 ขั้นตอนด้วยกัน
Step 1 What : ระบุให้ชัดว่าอะไรคือปัญหา
Step 2 Where : หาให้เจอว่าอะไรคือปัญหาย่อยที่มิอิทธิพลมากที่สุดเพื่อแก้ก่อน
Step 3 How much : ตั้งเป้าให้เข้าใจง่าย เป็นไปได้จริง
Step 4 Why : หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
Step 5 How : คิดแนวทางการแก้ปัญหา
หนึ่งในประโยคที่ผมชอบมาก ๆ ของหนังสือเล่มนี้เป็นของ Dr. Robert Anthony ที่พูดว่า
“วิธีหลุดพ้นจากปัญหาที่ดีที่สุดคือแก้ไข”
คนฉลาดที่บริษัทขาดไม่ได้ล้วนเป็นคนแก้ปัญหาเก่งครับ
Albert Einstein นักฟิสิกส์ระดับตำนานของโลกพูดไว้ว่า
“ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ไม่ได้ เป็นไปได้ว่าเรายังเข้าใจไม่มากพอ”
เหตุผลที่ผมมองว่าทักษะการสรุปประเด็นเพื่อสื่อสารนั้นสำคัญมาก ๆ เพราะว่าต่อให้เราวางแผน แก้ปัญหาได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าอธิบายให้คนอื่นไม่เข้าใจ ก็ยากที่จะได้ความร่วมมือและการยอมรับจากผู้อื่น
หนังสือเปลี่ยนยากเป็นง่ายด้วยการคิดบนกระดาษหนึ่งใบที่คนญี่ปุ่นใช้บอกไว้ว่า
3 ขั้นตอนที่ช่วยให้สรุปประเด็นได้ดีได้แก่
- มองภาพใหญ่ของการสื่อสารให้ออก
- ใส่กรอบครอบหัวข้อ จัดลำดับเนื้อหาให้เล่าแล้วเข้าใจง่าย
- ร้องอ๋อใน 3 วิ ใช้รูปแบบการนำเสนอที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันที
Reese’s บริษัททำขนมช็อกโกแลต มียอดขายจากสินค้าใหม่ถึง 235 ล้านดอลลาร์จากการคิดวิเคราะห์คำถามว่า “จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถทานขนมช็อกโกแลตได้ง่ายและไม่รู้สึกผิด” ไอเดียที่ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายโดยไม่ต้องทำวิจัยและพัฒนารสชาติใหม่คือเปลี่ยนแพ็กเกจ จากดั้งเดิมที่ชิ้นใหญ่ ต้องกินสองมือ เป็นชิ้นเล็กในห่อ Zip Lock แนวตั้ง ที่เพียงเปิดซิปก็หยิบทานได้เรื่อย ๆ ระหว่างดูทีวีหรือขับรถ
จากการทำงานในองค์กรระดับโลกของผมกว่า 12 ปี ผมตกผลึกขั้นตอนการวิเคราะห์ออกมาเป็น 5 กระบวนการด้วยกัน
- Set output หรือ ตั้งคำถามให้ชัดว่าอยากได้อะไรจากการวิเคราะห์
- Collect data มองให้ออกว่าถ้าจะวิเคราะห์ได้ต้องมีข้อมูลอะไร
- Analyze ลงมือวิเคราะห์อย่างถูกวิธี
- Make Decision ตัดสินใจบนสิ่งที่วิเคราะห์ได้
- Present นำเสนอหรือสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ
สิ่งที่ผมพบกับคนทำงานเก่ง ๆ ทุกคนคือพวกเขาคิดวิเคราะห์ได้ดีเยี่ยม ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงให้ลองเอากรณีของ Reese’s มาใช้ดูครับเพราะ Carl Jung นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า
“แค่ถามคำถามที่ใช่ก็ทำให้เราผ่านครึ่งทางของการแก้ปัญหา”
ตอนที่เริ่มมีลูกทีมให้ดูแลเป็นช่วงที่ผมลำบากมาก ๆ ไม่ใช่ว่าทำงานหนักขึ้น แต่เพราะผมไม่รู้วิธีสอนงานพวกเขา ผมรู้วิธีที่จะพัฒนาตัวเอง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าวิธีนั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคน Coach Jimi จาก Thailand Coaching Academy สอนผมว่า “คนเหมือนกันแต่คนไม่เหมือนกัน” ในความหมายที่ว่า
“แม้เราจะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เรามีคุณลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดและทำหรือชอบแบบเดียวกัน”
Interpersonal Skill หรือการเข้าใจและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จึงเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมาก ๆ นึกภาพคนเก่ง ๆ ที่เราชื่นชมดูครับ นอกจากที่เขามักจะทำงานได้ดีแล้ว เขายังเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีด้วยใช่ไหม แนวทางที่ผมใช้บรรยายบ่อย ๆ เวลาพูดเรื่อง Interpersonal Skill นำมาจากทฤษฎี DISC ของนักจิตวิทยา William Moulton Marston ที่บอกว่าในตัวเรามีลักษณะนิสัยอยู่ 4 ประเภท แต่ละคนมีความเป็นคุณลักษณะแต่ละด้านไม่เท่ากันตามจังหวะและสถานการณ์ แต่มักจะมีคุณลักษณะบางอย่างที่โดดเด่นออกมา ผมขอเรียกว่าธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วกันนะ
- ธาตุไฟคือคนที่ใจไม่เย็น เน้นผลลัพธ์
- ธาตุลมคือคนที่ชอบความสัมพันธ์ ร่าเริง กระตุ้นคนได้ดี
- ธาตุน้ำคือคนที่ชอบช่วยเหลือ ใส่ใจกับผู้คน ชอบที่จะมีพื้นที่ส่วนตัว
- ธาตุดินคือคนที่รอบคอบ ชอบรายละเอียดในการทำงาน
วิธีทำงานกับคนแต่ละธาตุในเรื่องเดียวกันจึงไม่เหมือนกัน ตัวผมเป็นลมกับน้ำผสมกัน ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้คุณลักษณะของธาตุเพื่อปรับให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์