การทํางานให้มีประสิทธิภาพที่เซนเซอยากบอกตัวเองตอนเด็ก

วิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานแบบฉบับ “เซนเซแป๊ะ”
ผมอยากจะมาแชร์มุมมองของตัวเองที่เคยทำงานมาครับ ในฐานะที่เป็นพนักงานประจำแล้วก็ประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง ผมเป็นผู้จัดการ ซึ่งต้องบอกก่อน ผมไม่ได้ทำงานเสร็จเร็วขนาดนั้น แต่ถ้าในมุมของความมีประสิทธิภาพก็ถือว่าพอได้ประมาณนึงละกันนะครับ ทีนี้ถ้าจาก 12 ปีที่ผมทำงานในองค์กรระดับโลกอย่างโตโยต้ามา ทำยังไงให้งานเสร็จเร็ว
โตโยต้าเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องของการทำ OT คือบริษัทญี่ปุ่น เขาก็จะมีการทำงานล่วงเวลาพอสมควรนะ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะ แต่สมัยช่วงที่ผมเด็ก ๆ เนี่ย เขามีความเชื่อว่าคนที่ทำ OT อาจจะเป็นคนที่ขยัน นี่เป็นชุดความเชื่อที่หลัง ๆ ก็เปลี่ยนไปแล้วนะครับ ทีนี้เราจะทำยังไงให้งานเสร็จเร็วแล้วก็มีประสิทธิภาพ
วันนี้ผมแบ่งปันเทคนิคสำหรับคนที่กำลังจะพัฒนาตัวเองจากคนทำงานไปเป็นระดับบริหารนะครับ ลองเอาเทคนิคนี้ไปปรับใช้กับวิธีคิดของตัวเองนะครับ ผมใช้วิธีนี้ผมก็ผ่านมาได้ เลยอยากจะแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ครับ แบ่งออกเป็น 2 หมวด
หมวดที่ 1 หมวดส่วนตัว
แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้
1.1 มีไอดอลไว้เป็นแรงบันดาลใจ
1.2 แกะรหัสความสำเร็จของเขาให้ได้
1.3 หาวิธีทำให้ดีกว่าเขา
หมวดที่ 2 หมวดเติบโตไปเป็นผู้บริหาร
คนหนึ่งที่มีบทบาทกับเราคือผู้บริหาร ผู้จัดการหรือหัวหน้าของเราครับ ผมจะพูดใน 2 แง่มุมว่าเราควรจะมีเทคนิคยังไงในการพัฒนาตัวเอง ในขณะเดียวกันเราจะเรียนรู้ว่าเราจะมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้าเรายังไงเพื่อจะให้เราเป็นคนที่ทำงานได้เสร็จไว เสร็จเร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพ ถ้าในมุมที่เป็นการร่วมงานกับหัวหน้าผมแนะนำเป็น 2 ข้อดังนี้
2.1 คุณควรจะอ่านใจหรือศึกษาจริตของเขาแล้วเพิ่มเวลาในการสื่อสาร
2.2 คิดเผื่อ คิดแทน มี Option ให้กับเขาเสมอ
1.1 มีไอดอลไว้เป็นแรงบันดาลใจ
หมวดส่วนตัว ผมแนะนำว่าเราควรจะมี “ไอดอล” ในการสร้างแรงบันดาลใจ ไอดอลในที่นี้คือโฟกัสในการทำงานเลยนะ คนที่เราคิดว่าในบริษัทของเรา ในหมู่คนที่เรารู้จักหรือรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยก็ได้นะครับ คนนี้ทำงานดีจังเลยอ่ะ เร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาทำงานไม่มาก มีเวลาออกกำลังกาย เราเลือกได้หลายมุม ไอดอลได้ทั้งแบบคนเดียวโดด ๆ เลยก็ได้ หรือว่าจะเป็นแบบ 2-3 คน แล้วเราจะมาผสมกันเป็นแครักเตอร์ของเราก็ได้นะครับ เหตุผลที่เราควรจะต้องมีไอดอลคือเราจะได้มีแรงบันดาลใจ มีแรงจูงใจ แล้วเราก็จะได้มีความรู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องสนุก จะดีไหมถ้าในวันหนึ่งเราสามารถทำได้อย่างดีแบบพวกเขา
เหมือนตอนนี้ที่ผมอาจจะไม่ได้ทำงานประจำแล้ว แต่ผมก็มีไอดอลทางด้านงานวิทยากรนะครับ ว่าผมเป็นเหมือนพี่ท่านนี้ ถ้าเป็นงานเขียนผมก็อยากจะเขียนหนังสือให้น่าอ่านได้เหมือนพี่บอย วิสูตรครับ เขียนหนังสือให้อ่านแล้วละมุนเหมือน เกตุวดี Marumura นะครับ
ผมคิดว่ามันเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงาน เหมือนมีเส้นทางในการพัฒนาตัวเอง กับถ้าใครชอบเล่นเกม มันก็จะเหมือนการกำหนดอาชีพว่าอยากจะพัฒนาตัวเอง ทุกครั้งที่ level up ขึ้นมาเราจะเลือกได้ว่าพัฒนาตัวเองไปสายไหน คล้าย ๆ กันครับ การที่เรามีไอดอลมันทำให้เราเลือกที่จะพูดเก่งเหมือนพี่คนนี้ ฉันอยากจะคิดมีระบบเหมือนคนนี้ ฉันอยากจะวางแผนหรือว่านำเสนอได้ดีเหมือนพี่คนนี้เลยนะครับ ถ้าโดยส่วนตัวผมคิดว่ามีสัก 2-3 ท่านน่าจะกำลังดีนะครับ อันนี้เป็นความเชื่อนะครับ ไม่ได้มีถูกผิด ถ้ามีเยอะก็จะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าอะไรยังไง มีสัก 2-3 ท่านก็พอครับ
สำหรับผมก็มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ใกล้ชิด โตมาด้วยกันเลยนะ เป็นพี่ที่จบจากญี่ปุ่นนะครับ แล้วแกก็เป็นคนที่เก่ง ความสามารถในการทำงานเชิงเทคนิคเก่งมาก ๆ นะครับ ในขณะเดียวกันเรื่องคนก็เก่งเหมือนกันนะครับ เป็นคน nice เข้ากับคนได้ ใครก็รัก นี่ก็คือ 1 ท่านที่ผมชื่นชมนะครับ
อีกท่านนึงเป็นพี่ผู้หญิงที่เด็ดขาด เฉียบขาดนะครับ คม แล้วก็ฟันฉับ ๆ ได้ แต่ไม่มีใครโกรธ มีความตรงไปตรงมา แต่ก็มีความอ่อนโยนในแบบที่สุภาพสตรีมี ผมรู้สึกว่าเวลาเรามี 2 ท่านนี้เป็นแบบอย่าง เราก็เลียนแบบ ทำให้ผมสามารถ Follow through ได้ง่ายนะครับ
เมื่อใดก็ตามที่เห็นของดีเราก็จะรู้ว่ามันคือของดี เราทำแบบนี้ได้ แล้วก็จะพิสูจน์ได้ว่านี่คือของดี เราก็เป็นคนที่ใช้ได้เหมือนกันนะครับ ผมมีอีก 2 ตัวอย่างที่ดี พี่ทั้ง 2 ท่านเป็นวิทยากรในองค์กร ผมก็รู้สึกว่าถ้าเราอยากจะเก่ง ก้าวไปได้ พูดรู้เรื่อง สื่อสารได้ดี เล่าอะไรแล้วเข้าใจง่าย น่าจะต้องเพิ่มทักษะการเป็นวิทยากร ก็เลยพาตัวเองเข้าไปอยู่ในงานวิทยากร แล้วมันก็นำพาผมมาสู่อาชีพวิทยากรในปัจจุบันนี้นะครับ ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่ทั้งสองท่านนี้ด้วยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อเพราะไม่ได้ขออนุญาตพี่เขานะครับ ขอบคุณจากใจจริง ๆ ครับ
1.2 แกะรหัสความสำเร็จของเขาให้ได้
อันที่ 2 คือ ลำพังแค่มีไอดอลเราจะได้แค่สิ่งที่เรียกว่าแรงบันดาลใจหรือความสุขใจในการที่เริ่มต้นทำงานนะครับ แต่ถ้าเราจะไปถึงจุดที่เหมือนกับพี่เขาได้ สิ่งที่เราจะต้องทำการบ้านต่อก็คือข้อที่ 2 นี่แหละ คือถอดรหัสลึก แกะรหัสความสำเร็จของเขานะครับ บางทีเราเห็นผลลัพธ์ว่าเขาสื่อสารได้ดี เขาได้รับโอกาส แต่เราอาจจะต้องไปศึกษาเชิงลึกอีกทีนึงครับว่าเขาทำอะไร เขาถึงได้ผลลัพธ์แบบนั้น เพราะอะไรเขาถึงได้โปรโมทแบบนั้น
ช่วงที่ผมเรียนรู้จากพี่ 2 ท่านนะครับ ผมบอกเขาไปเลยว่าพี่คือไอดอลของผมเลย ผมก็ไปแกะรายงานของเขา นี่ไม่ใช่พวกสตอล์คเกอร์นะครับ เข้าไปดู calendar ของเขาว่าเขาทำอะไรบ้างวัน ๆ หนึ่ง วางแผนตัวเองเป็นยังไง ประชุมสัดส่วนเท่าไหร่ อบรมเท่าไหร่ สอนงานน้องเท่าไหร่ แล้วก็ทำงานตัวเองแล้วประมาณเท่าไหร่ แล้วก็พยายามเอาตัวเข้าไปใกล้ชิดครับ ปกติเราก็ทำงานคนละสายงาน แต่เวลาที่มีกิจกรรมร่วมเราก็จะขอร่วมด้วย
ผมอยากเรียนรู้ เลยได้สัมผัส ได้เห็นวิธีคิดของเขาจากการที่เราไปใกล้ชิดครับ เพราะเราถอดรหัสความสำเร็จ พี่คนนี้ เวลาถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ เขาจะคิดแบบนี้ 1 2 3 4 ครับ ในขณะที่พี่ท่านหนึ่ง ถ้ามีกรณีแบบนี้ เขาจะคิดโดยพื้นฐานแบบนี้ 1 2 3 4 ถ้าเราไม่ได้ร่วมงานกับเขาเราอาจจะไม่เข้าใจตรงนี้ แต่เราพยายามหาพื้นที่ หาวิธีที่จะทำให้เราได้เห็น Way of Thinking ของเขา เขามีวิธีคิดแบบนี้ นำไปสู่กระบวนการการทำงานใช่ไหมครับ แล้วถ้าวิธีการทำงานดี มีผลลัพธ์ที่ดี มักจะมีกระบวนการทำงานที่ดีครับ เซนเซเล็กพูดบ่อยมาก เป็นกิมมิคของเขาไปแล้วนะครับ
ถ้าเกิดมีกระบวนการทำงานที่ดีก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี แต่กระบวนการที่ดีมาจากทัศนคติหรือชุดความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของเขานั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีไอดอล แล้วเรามีแรงบันดาลใจ แต่จะดีกว่านี้ได้อีกถ้าเราแกะรหัสเขาได้จริง ๆ ว่าเขาคิดยังไง เขาถึงได้ลงมือทำแบบนั้น เพราะอะไร เพราะสุดท้ายมันจะเชื่อมโยงไปยังข้อที่ 3 ที่ผมกำลังจะพูด เราจะรู้ว่าเราทำแบบไหนได้ในวิธีของเรา แล้วมันจะได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับที่พี่เขาได้นะ
1.3 หาวิธีทำให้ดีกว่าเขา
เราเกิดมา เราไม่ได้เหมือนกับเขาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ถูกไหม เราอาจจะโตมาในสภาพแวดล้อมคนละแบบกับพี่เขา พี่เขามีความเด็ดขาด เราจะเด็ดขาดไม่ได้เท่าเขา แต่เรามีความอ่อนโยนที่อาจจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เราต้องมาหามุมของเราว่าสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามี จุดเด่นของเรา ปรับให้มันเข้ากับตัวเราเองได้ไหม เราไม่สามารถที่จะเอาตัวตนพี่เขามาใส่ แล้วได้หมดทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการหรือไม่เข้าใจวิธีคิด เราจะเลือกไม่ได้
เอาง่าย ๆ นะ เหมือนการทำกะเพราให้อร่อย จริง ๆ มันทำได้หลายวิธี แต่มันต้องมีวิธีคิดเบื้องต้นก่อนว่าเขาอยากจะดีไซน์ออกมาให้มันได้ผลลัพธ์แบบนี้ด้วยเหตุผลอะไรและมีกระบวนการอะไร ถ้าเรารู้ว่าเราจะปรับนิดหน่อยให้มันเข้า อย่างเช่น พี่เขาบอกต้องใช้น้ำตาลกรวด ผมมั่วเลยนะ ผมไม่ได้ทำกับข้าวเก่ง แต่ที่บ้านผมไม่มีน้ำตาลกรวด ที่บ้านมีแต่ไอซ์ซิ่ง ใช้ได้ไหม หรือใช้น้ำตาลปี๊บได้ไหม ต้องปรับให้เป็นตัวเรามากที่สุดครับ หาวิธีทำให้ดีกว่าพี่เขา
คำหนึ่งที่ผมชอบจากคุณ John Maxwell เขาพูดในหนังสือที่เกี่ยวกับ Leadership ว่า
“คนธรรมดาเรียนรู้จากความล้มเหลวของตัวเอง คนเก่งเรียนรู้จากความสำเร็จของตัวเอง แต่อัจฉริยะหรือคนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ล้วนเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น”
ผมคิดว่าเรื่องนี้จริงเลยนะ ทำยังไงให้ทำงานได้เสร็จเร็วแล้วก็มีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าสำหรับผมคือการที่มองหาไอดอล ก็คือหา Standard นั่นเอง แล้วพยายามแกะให้ได้ว่าจะให้ Standard นั้นมีกระบวนการการทำงานแบบไหน แล้วก็หาวิธีปรับปรุง Standard ในแบบของตัวเอง ถ้าคุณมีเคล็ดลับแบบนี้ คุณก็อาจจะทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น เพราะคุณไม่ต้องไปนั่งเรียนรู้กับเขา เรียกว่าลองผิดลองถูกหรือลองผิดลองผิดก็ได้นะ เราไม่รู้ว่าความเชื่อของเรามันถูกหรือไม่ถูก แต่เราไปเอาชุดความเชื่อของพี่ที่เขาผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่านี่คือวิธีคิดของคนเก่ง เราก็จะเก่งขึ้นมาได้เลยทันที
ถัดมาคือเรื่องของหัวหน้าหรือเรียกว่าผู้บริหารที่มีหน้าที่ในการพัฒนาเราด้วย ผมแบ่งเป็น 2 อันง่าย ๆ เลย
2.1 ต้องอ่านใจและเพิ่มเวลาสื่อสาร
ความหมายของมันคืออะไร การทำงานร่วมกัน ด้วยบริบทหัวหน้ากับลูกน้องหรือลูกทีม ต้องมีการอ่านใจนิดหนึ่งครับ ถ้าเราอยากจะทำงานให้เร็ว อนุมัติรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้คือต้องเข้าใจเขาก่อน พยายามคิดในหมวกของเขา ว่าถ้าเราเป็นเขาเขาต้องการอะไร นี่เป็น 1 เรื่องเลยนะที่ตอนเด็ก ๆ ผมแทบจะไม่เคยได้คิด แต่ตอนนี้ผมตระหนักแล้ว และในฐานะที่ผมเองก็เป็นผู้จัดการ ผมอยากให้น้องของผมคิดได้ว่าจริง ๆ แล้วผมอยากได้อะไร
บางเรื่องผมก็พูดเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะถ้าผมพูดทั้งหมดมันจะเป็นการฆ่าน้อง นั่นหมายถึงว่าน้องเขาจะไม่ได้ฝึกคิดเลย เขาจะทำตามแค่ที่ผมบอก ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้จัดการที่ดีต้องมีพื้นที่ให้น้อง ๆ ได้ฝึกคิดบ้าง เมื่อกี้พี่เขาอยากเห็นว่าเราคิดสิ่งหนึ่ง ที่ต้องทำคือเราต้องฝึกคิด ฝึกอ่านใจ ว่างานนี้ โจทย์นี้ พี่ ๆ เขาอยากได้อะไร รูปแบบการนำเสนอควรจะเป็นแบบไหนนะครับ ทีนี้ถ้าเราเดาใจมันก็คือการเดาถูกนะ ก่อนที่จะลงมือทำให้รอการคอนเฟิร์มก่อนว่าผ่านไหมนะครับ
เทคนิคที่ผมเขียนไว้คือเพิ่มเวลาสื่อสารนะครับ จะได้ไม่หลงทาง นี่เป็นเรื่องดีครับ แต่ยังไม่ยืนยัน อาจจะเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกต้องนะครับ คิดเสร็จปั๊บ ยืนยันกับพี่เขาว่าพี่ครับนี่ใช่ที่พี่ต้องการหรือเปล่าครับ เพียงแค่นี้เอง เชื่อไหมว่าเราอาจจะสามารถลดเวลาการทำงานได้ 8-10 ชั่วโมงเลยนะครับ คุณจะได้ไม่ต้องหลงทาง อย่างเช่นพี่เขาอยากไปเชียงใหม่ คุณตีโจทย์ว่าพี่ก็อยากลงใต้ คุณเดินทางไปใต้เสร็จปั๊บ โทรบอกพี่เขา อ่าวเฮ้ย ผมนัดคุณที่เชียงใหม่ ทำไมคุณลงใต้ คุณก็ต้องเดินทางย้อนใต้ขึ้นเหนืออีก คือถ้าผิดทาง มันจะเป็นแบบนี้ นี่คือการอ่านใจแล้วก็พยายามเพิ่มเวลาการสื่อสาร จะได้ไม่หลงทาง เพิ่มเทคนิคให้อีกนิดหนึ่งนะครับ
ถ้าเกิดหัวหน้ายุ่งมาก ๆ เลยต้องทำยังไง อันนี้เป็นเทคนิคนะ คือหัวหน้าที่เขา nice มาก ๆ เวลาขอเขาเข้าไปคุยเมื่อไหร่เขาก็จะให้ ถ้าเขาไม่ได้ยุ่งจริง ๆ แต่หัวหน้าบางคนเขาก็เคารพกฎ รักษาเวลา วิธีที่ดีที่สุด คุณก็จองเป็นรายเดือนไปเลยก็ได้ หรือจองเป็นแบบรายวันก็ได้
พี่ครับ ทุกวันผมขอ 15 นาที เวลาเท่านี้ ขอคุยกับพี่หน่อยนะ ถ้าวันไหนไม่มี เดี๋ยวผมแจ้ง แต่วันไหนผมไม่แจ้งให้ถือว่าเป็นเวลาของผมนะ แล้วก็คุยคร่าว ๆ อย่างนี้ก็ได้นะครับ หรือถ้าคุณมีเรื่องด่วน คุณก็แจ้งครับ บอกล่วงหน้า พี่ครับ อาจจะมีเรื่องด่วน พยายามแจ้งหรือว่าเพิ่มเวลาในการสื่อสารด้วยการสื่อสารกับเขานะครับ ยิ่งสื่อสารกับเขามากเท่าไหร่คุณยิ่งอ่านใจคนได้แม่นมากขึ้นเท่านั้น และข้อดีที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวคือพอยิ่งคุณเข้าใจเขามากขึ้นเท่าไหร่
ในเวลาไม่นานคุณก็อาจจะทำงานแทนเขาได้นะครับ ซึ่งผู้จัดการที่เปิดกว้าง หัวทันสมัย เขาจะยินดีมากนะ เพราะถ้าเกิดคุณทำงานแทนเขาได้ เขาก็มีโอกาสที่จะเติบโตไปทำงานที่ท้าทายขึ้น win-win ทั้งคู่ เห็นไหมครับ ลองคิดแบบนี้ดูนะ ลองสื่อสารดู
2.2 คิดเผื่อ คิดแทน มี Option ให้กับเขาเสมอ
สุดท้ายนะครับ อันที่ 2 คือ คิดเผื่อ คิดแทน มี Option ให้เขาเสมอนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น้อง ๆ เด็ก ๆ หลาย ๆ คน อาจจะแบบ อะไรวะ แค่นี้ต้องทำตั้งหลายอย่าง ทำไมมันต้องยุ่งยากขนาดนี้ บางทีตอนเด็ก ๆ ผมเป็นบ่อยมากเลย อันเดียวไม่พอหรอกจริง ๆ ผู้จัดการเขาจะมีมุมมองที่กว้างแล้วก็เห็นหลายมิติมากกว่าเรา อาจจะเห็นในมุมของการตลาด เห็นในมุมการขาย ไม่ใช่แค่เรื่องของการผลิตอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นเนี่ย บางทีไอเดียที่เราคิดมามันอาจจะดีที่สุดในแง่ของการผลิต แต่มันอาจจะไม่เวิร์กหรือมันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ที่สุดในแง่ของการขายและการตลาดก็ได้ เพราะฉะนั้นบางทีคุณก็ควรหา Option One Option Two นะครับ
ถ้าผมเป็นหัวหน้านะ ถ้าผมเป็นผู้จัดการ ผมจะแฮปปี้มากเลยถ้าน้องบอกว่าผมเข้าใจโจทย์พี่แล้ว แล้วผมคิดมาสามโจทย์ ในมุมของผม คิดว่าโจทย์อันนี้น่าจะตอบโจทย์ที่สุดหรือ A จุดเด่นของมันคือเรื่องการผลิตครับ มันดีที่สุดเลย ต้นทุนต่ำครับ B จุดเด่นของมันคือขายง่ายครับ คำขายหรือการโปรโมท การตลาด มันจะทำได้ดีมาก ๆ ครับพี่ สำหรับผม ผมคิดว่า B น่าจะเวิร์กและพี่คิดว่ายังไงครับ
คุณไปเลือกมาสัก 3 ตัวเลือก แล้วคุณแนะนำ คุณได้คอมเมนต์ว่าเป็นอย่างนี้ แต่คุณก็มีตัวเลือกให้เขาเลือกสามอัน ผู้บริหารรักตายเลยครับ เพราะเขารู้ว่าคุณเข้าใจเขาแล้ว คุณก็สร้างตัวเลือก ซึ่งถามว่ามันดียังไง คุณจะได้เห็นมุมมองมากขึ้นนะครับ
ผมไม่เกี่ยง ผมไม่ได้เรียกว่าทำงานมากขึ้น ณ ตอนนั้น แต่คุณลองนึกภาพดูไว้ คุณไปหามาตัวเลือกเดียวนะครับ แล้วผู้บริหารบอกอันนี้ไม่ใช่ ไม่โดน คุณก็ต้องกลับมาแล้ว คุณจะต้องรื้อใหม่อีกรอบหนึ่ง ถ้าคุณยังไม่โดนอีกนะครับ คุณซวยนะ โชคไม่ดี คุณโดน 3 รอบ เท่ากับคุณทำงาน 3 ครั้งนะครับ แต่ถ้าคุณทำ 3 ไอเดียไปพร้อมกันเลย คุณรายงานทีเดียว อย่างน้อยเวลาได้แล้ว คุณจะได้คำตอบทันทีด้วย คุณจะมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้นครับ นี่คือเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมรู้สึกว่ามีประโยชน์ แล้วก็เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำได้นะครับ
1. หาไอดอลเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
2. แกะรหัสความสำเร็จ
3. ทำให้ดีกว่าในแบบของเรา
4. อ่านใจหัวหน้าให้ออก
5. คิดเผื่อคิด มีตัวเลือกให้หัวหน้า
