5 ข้อดีเขียนต้นฉบับ ไม่เลิกกลางคัน
“เขียนต้นฉบับเหมือนกับวิ่งมาราธอน”
หนังสือ Pocket Book หนา 240 หน้า ยากจะเขียนจบในไม่กี่วัน และก็เหมือนการวิ่งมาราธอนที่ไม่ใช่นึกอยากจะวิ่งก็วิ่งได้เลย แต่ต้องวางแผนฝึกซ้อมจนกล้ามเนื้ออยู่ตัว การเขียนบทความ 2-3 หน้ากระดาษอาจไม่ยาก แต่ถ้าต้องเขียนให้ร้อยเรียงกันและต่อเนื่องก็จำเป็นต้องรู้วิธีการ
5 เทคนิคที่ผมใช้จริงจนได้ต้นฉบับมา 7 เล่มครับ
-
- ตั้งเป้าให้ชัดด้วย อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่
- อะไรสำคัญต้องมีเวลาให้
- อย่าฝืน ทำให้เป็นกิจวัตร
- บันทึกความก้าวหน้า
- อนุญาตให้ตัวเองพัก
1. ตั้งเป้าให้ชัดด้วย อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่
มีเทคนิคการตั้งเป้ามากมายแต่ที่ผมใช้และได้ผลคือการตอบ 3 คำถามนี้ให้ชัดเจนครับ
อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ยกตัวอย่างเช่น พาครอบครัวไปเที่ยว 1 ครั้งต่อเดือนก่อนมกราคม 2021
มาดูกรณีการตั้งเป้าเขียนต้นฉบับหนังสือกัน
No. | อะไร | เท่าไหร่ | เมื่อไหร่ |
1 | เขียนต้นฉบับ | 1 เล่ม | – |
2 | เขียนต้นฉบับหลักสูตร How to make bestseller book | 240 หน้า | ใน 1 สัปดาห์ |
3 | เขียนต้นฉบับหลักสูตร How to make bestseller book | 240 หน้า | ใน 12 สัปดาห์ |
ตัวอย่าง No. 1 จะเห็นว่าถ้าขาด “เมื่อไหร่” มันก็ลอย ๆ ไม่ชัดเจน แถมจำนวน 1 เล่ม ก็ไม่สามารถวางแผนได้ด้วยว่าจะเขียนต้นฉบับวันละหรือสัปดาห์ละกี่หน้าดี
ดีที่สุดคือตัวอย่าง No. 3 ที่ชัดเจนว่าหนังสืออะไร หนากี่หน้า และจบในเวลาที่เป็นไปได้ (240 หน้าใน 12 สัปดาห์)
เคล็ดลับที่แนะนำให้ใช้คู่กันคือควรเป็นเป้าที่ “เขียนแล้วใจสั่น” รู้สึกท้าทายพอดี ๆ ไม่ยากเกินจนท้อตามหลักการความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับความสามารถ
ที่มา : https://delphis.org.uk
ส่วนตัวผมจะพยายามตั้งเป้าเขียนหนังสือหนา 240 หน้าให้จบภายใน 12 สัปดาห์ โดยที่เฉลี่ยควรจะเขียนได้สัปดาห์ละ 20 หน้า (240/12)
ทำไมต้อง 240 หน้า ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นหนังสือที่ใช้ทั้งความพยายามในการเขียนและแก้ต้นฉบับได้ไม่ยากเกินไป มองในมุมผู้อ่านก็ไม่ยากที่จะอ่านให้จบด้วย (เล่มที่เกิน 300 หน้า ตัวหนังสือเยอะ ๆ ถ้าไม่น่าสนใจจริง ๆ ก็มักจะอ่านไม่จบแหละ ฮ่า ๆ)
ส่วนทำไมต้อง 12 สัปดาห์ มีหลายเหตุผล หนังสือส่วนใหญ่ของผมเป็นแบบอ่านข้ามบทไม่ได้ เล่มที่ผมใช้เวลาเกินครึ่งปีมักประติดประต่อเนื้อหาที่เคยเขียนไว้ยาก บ้างก็ช่วงท้ายเริ่มรู้สึกอินกับการเขียนไม่เท่ากับช่วงแรก อีกอย่างงานบรรยายของผมมักจะหนาแน่นไม่มากในไตรมาส 1 ผมจึงมีเวลาที่ได้ทำงานเขียนจริงจังต่อเนื่อง 3 เดือนครับ
แต่ละคนมีบริบทต่างกัน ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเลข 240 หน้า 12 สัปดาห์เหมือนผมนะครับ ผมเคยฟังคุณนิ้วกลมเล่าในหนังสือ Have a nice life ว่าเขาใช้เวลา 9 วัน เก็บตัวในบ้านริมทะเลเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ที่หนา 320 หน้า
ที่มา : KOOB
ส่วนอาจารย์เกด เจ้าของหนังสือ Omotenashi ก็บอกว่าใช้เวลาเรียบเรียง ค้นหาข้อมูลเป็นปีถึงจะเขียนออกมาเป็นหนังสือได้
ที่มา : welearn
หัวใจสำคัญจึงเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เราใจสั่น อยากทำให้สำเร็จในรูปแบบของตัวเอง
2. อะไรสำคัญต้องมีเวลาให้
ปัญหาของเราไม่ใช่การทำทุกอย่างที่อยากทำให้หมดใน 1 วัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วเรื่องที่เราอยากทำมักจะมากกว่าเรื่องที่เราทำได้ในแต่ละวันเสมอ
หัวใจสำคัญคือ การตอบตัวเองให้ได้ว่าถ้ามีเวลาทำงานราว 8-10 ชั่วโมงจะทำอะไร
คาถาประจำใจผมคือ “อะไรสำคัญต้องมีเวลาให้มัน” เราไม่มีทางเขียนต้นฉบับเสร็จด้วยการบอกว่า “ไม่มีเวลา”
แต่จะเป็นไปได้ทันทีที่ถามตัวเองว่าจะสร้างเวลาเขียนต้นฉบับตรงไหนดี
ส่วนตัวผมจะแบ่งเวลาออกเป็น 3 ประเภท
-
- เวลาที่ตัวเองมีสิทธิเต็มร้อย เช่น นอน พักผ่อน
- เวลาที่ใช้ร่วมกับคนอื่น เช่น ทำงาน
- เวลาที่ใช้เพื่อคนอื่น เช่น เลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่
ส่วนตัวแล้วมองว่าเวลาแบบที่ 1 เป็นเวลาที่สามารถเปลี่ยนเป็นเวลาเขียนต้นฉบับได้ดีที่สุด เพราะมีตัวแปรที่ต้องจัดการคือเราคนเดียว
เช้า 6:00-9:00 ของผมมักเป็นเวลาเขียนต้นฉบับหรือทำงานส่วนตัว เวลาตรงนี้ผมจะไม่นัดประชุม ไม่ทำอย่างอื่นที่มีผู้คนมาเกี่ยวข้อง ส่วนตั้งแต่ 9:00-17:00 ก็เป็นเวลาเปิดกว้างสำหรับ บรรยาย ประชุม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ
เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งช่วงเวลาที่จะเลือกเขียนต้นฉบับและปริมาณเวลาที่จะเขียนในแต่ละวัน
แต่สิ่งที่ควรเหมือนกันคือหาเวลาและลงมือทำตามแผนครับ
3. อย่าฝืน ทำให้เป็นกิจวัตร
การที่เราไม่รู้สึกฝืนหรือเหนื่อยเวลาแปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้าเพราะมันเป็นกิจวัตร เขียนต้นฉบับก็ควรทำให้เกิดความรู้สึกนั้นเหมือนกัน ในช่วงแรกที่เริ่มต้นกิจกรรมใหม่ เป็นอะไรที่ยากเสมอ เพราะต้องไปแทนที่กิจวัตรเดิมของเรา
คำแนะนำของผมคือพยายามเริ่มให้ง่ายและไม่ท้าทายเกิน ยกตัวอย่างการฝึกวิ่ง Half Marathon ครั้งแรกของผมก็เริ่มจากวิ่งเวลาที่สะดวกให้ได้ 1 กิโลเมตร พอรู้ว่าไหว คราวนี้ก็ย้าย 1 กิโลเมตร มาในตารางที่ต้องการอย่างตีห้า พอทำได้แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง การฝืนมาวิ่ง 5 กิโลเมตร ให้ได้ตอนตีห้าโดยไม่เคยทำมาก่อนไม่ง่าย แต่ถ้าค่อย ๆ ปรับให้ชินอย่างที่แนะนำก็เป็นไปได้
เขียนต้นฉบับจริง ๆ ก็คล้ายกัน ช่วงแรกผมจะบอกตัวเองว่าเขียนให้ได้แค่ 2-4 หน้าพอ แล้วที่เหลือคือกำไร
ส่วนตัวผมจะเริ่มรู้สึกว่าเป็นกิจวัตร ไม่ฝืน หลังผ่านไปได้สัก 10 วัน ตัวเลขนี้มีหลายทฤษฏี บ้างก็ว่า 21 วัน 30 วัน ไม่ตายตัว ดังนั้นโฟกัสไปที่การหาวิธีทำให้สม่ำเสมอดีกว่า เคล็ดลับอยู่ที่
A: การประคองความอยากไว้วันต่อไป ในแต่ละวัน ต่อให้ผมเขียนได้ครบจำนวนหน้าก่อนเวลาที่ตั้งใจ ผมก็จะหยุดแล้วให้รางวัลตัวเอง เล่นเกม พักผ่อนตามอัธยาศัย และตั้งเป้าว่าพรุ่งนี้ก็จะตื่นมาเขียนต่อ
B: เอาชนะความขี้เกียจด้วยกฎ 2 นาที ช่วงที่ยากที่สุดสำหรับการเขียนคือช่วงเริ่มต้นเขียน เพราะเราจะรู้สึกเหนื่อยและหนักกับสิ่งที่ยังไม่คุ้นชิน James Clear เจ้าของหนังสือ Atomic Habits ที่มียอดขายกว่า 2,000,000 เล่มทั่วโลก ให้ไอเดียเรื่องกฎ 2 นาทีไว้ว่า ลองตั้งเป้าหมายย่อยที่ทำได้แน่ ๆ ใน 2 นาทีดู เมื่อทำสำเร็จจะคล้ายการสตาร์ตเครื่องยนต์ ส่งให้ทำอะไรต่อได้อีกยาว ๆ
แม้การเขียนจะเป็นสิ่งที่ผมชอบ แต่ถ้าช่วงไหนที่บรรยายนอกสถานที่หลายวันติด ๆ กัน ร่างกายก็งอแงบ้าง ก็จะใช้วิธีสั่งตัวเองเช่น นั่งเก้าอี้ เปิดจอคอม เปิดคอมพิวเตอร์ เปิด Folder งาน เป็นภารกิจย่อย ๆ ที่ทำได้แบบไม่ต้องคิดเยอะและไม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป พอทำได้สักพักก็ไปต่อได้อีกยาวเลยครับ
2 วิธีนี้ไม่ยาก เอาไปลองใช้ดูครับ
4. บันทึกความก้าวหน้า
อีกเรื่องที่ทำให้ผมเขียนต้นฉบับได้ทุกวันโดยไม่เลิกไปก่อน แถมยังเขียนเพิ่มได้ 2-3 เท่าในบางวันช่วงใกล้ปิดเล่มคือการบันทึกความก้าวหน้าในแต่ละวันที่ทำได้
บางคนคิดว่าความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อเขียนหนังสือแล้วเป็น Bestseller บางคนก็ว่าขอแค่ได้ตีพิมพ์ก็ดีใจแล้ว
สิ่งที่ผมแนะนำคือ เราสำเร็จตั้งแต่วินาทีที่พิมพ์คำแรกแล้วครับ และความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สม่ำเสมอในทุกวันจะพาให้เราสำเร็จแบบมหาศาลได้เอง
ในทุกวันที่เขียนได้ไม่ว่าจะตามเป้าหรือเกินเป้า ผมก็จะบันทึกเอาไว้เป็นตัวเลข วันไหนมีเรื่องราวพิเศษเช่นทำได้ไวกว่ากำหนดก็อาจจะเขียนในหมายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น บันทึกเหล่านี้นอกจากจะทำให้เห็นตัวเองว่าอยู่ในแทรค เร็วหรือช้ากว่าแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นความคืบหน้าที่เกิดขึ้นด้วย
จากวงกลมด้านบน ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านสนใจกับช่องว่างมากกว่าส่วนอื่นของวงกลมเหมือนผมไหม
เรามักจะรู้สึกต่างกันระหว่าง 0-2% กับ 98-100% เหตุผลก็เพราะว่าจาก 0 ไป 2 ยังเหลืออีกตั้ง 98% ที่ต้องทำ ส่วน 98 ไป 100 มันคือ 2% สุดท้ายที่ต้องทำ เหมือนที่เราจะฮึดมีแรงใน 15 นาทีสุดท้ายของคาบเรียนที่ยาวนาน
การบันทึกความก้าวหน้าจะทำให้เรารู้ว่าใกล้จะปิด Gap ได้หรือยัง ผมเคยเขียนต้นฉบับได้ 24 หน้าวันเดียว ทั้งที่ช่วงเริ่มต้นของเล่มนั้นแค่ 6 หน้าก็หมดแรงแล้ว
5. อนุญาตให้ตัวเองพัก
ถ้าขับรถทางไกลยังต้องแวะพัก งานเขียนต้นฉบับก็ไม่ต่างกัน จากประสบการณ์ตรง ไม่ง่ายที่จะสามารถเขียนได้ตามแผนทุกวัน เช่น ป่วย มีภารกิจด่วนเข้ามา
เทคนิคที่ผมใช้มักเป็นการกำหนดให้ตัวเองเขียน 5 วันพัก 1 วัน มีวันสำรองอีก 1 วัน
เช่นตั้งเป้าเขียนหนังสือ how to การทำงาน ความหนา 240 หน้าให้จบใน 12 สัปดาห์ ก็จะต้องได้ 20 หน้าใน 1 สัปดาห์
ตารางของผมก็จะเป็นดังนี้
(สีฟ้า) จันทร์-ศุกร์ เขียนให้ได้ตามแผน 20 หน้า เท่ากับวันละ 4 หน้า/วัน (สีชมพู) เสาร์ สำหรับชดเชยหากในวัน จ-ศ หยุดเขียนหรือเขียนไม่ได้ตามแผน ถ้าเขียนได้ตามแผนก็เลือกได้ว่าจะพัก หรือ ทบทวนสิ่งที่เขียน หรือถ้ารู้สึกอยากเขียนต่อ ถือว่าสัปดาห์นั้นได้เกินแผน
ส่วน (สีเขียว) วันอาทิตย์ ก็มักจะหยุดพักผ่อนเพื่อรักษาความรู้สึกอยากเขียนเอาไว้ในสัปดาห์ถัดไป
อัตราส่วนของทั้ง 3 อย่างนี้ คุณสามารถลองออกแบบด้วยตัวเองได้ เช่นจาก 5:1:1 เป็น 4:2:1 ก็ได้
ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นว่าไม่ว่าจะมีเวลาทั้งวันให้เขียน แต่ผมก็จะไม่เลือกเขียนทั้งวันเพราะจากประสบการณ์ตรงบอกผมว่า สมองด้านความคิดสร้างสรรค์มีจำกัด ตัวผมนั้นไม่สามารถเขียนงานดี ๆ ที่ตัวเองรู้สึกพอใจได้หลังผ่านบ่ายสามโมงไปแล้ว เคยพยายามหลายรอบก็รู้สึกเขียนไม่ออก ใช้เวลามาก ได้ผลลัพธ์น้อย
ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะใช้เวลาช่วงบ่ายพักผ่อนหรือออกไปทำอย่างอื่นแทน
นักเขียน Bestseller ระดับโลกหลายคนอย่าง Haruki Murakami, Stephen King ก็คล้ายกัน พวกเขาจะทุ่มเทให้งานเขียนต้นฉบับตั้งแต่เช้า ทำให้ได้ตามเป้าหมาย แล้วก็ไปออกกำลังกาย พักผ่อน เติม Input อย่างการอ่านหนังสือ ฟังเพลง
ผมเคยสงสัยว่าเพราะอะไรนักเขียนที่รู้จักหลายคนชอบวิ่ง Haruki Murakami, คุณเอ๋ นิ้วกลม, คุณแท๊ป รวิศ ผมเลยลองวิ่งอย่างจริงจังบ้าง พบว่ามันได้ทั้งการฝึกวินัย เพิ่มความอึดในการเขียน พร้อมกับรักษาสมดุลร่างกายระหว่างการนั่งทำงานนาน ๆ กับการเคลื่อนไหว
เท่าที่สังเกตตัวเอง พบว่าเขียนดี อึดและดีขึ้นจริง ๆ หลังออกกำลังกายสม่ำเสมอ การนอนก็สำคัญมากต่อการเขียนหนังสือเช่นกัน ไว้บทความอื่น ๆ จะมาขยายความให้ฟังนะครับ
สรุป 5 เทคนิคอีกครั้งดังนี้
-
- ตั้งเป้าให้ชัดด้วย อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่
- อะไรสำคัญต้องมีเวลาให้
- อย่าฝืน ทำให้เป็นกิจวัตร
- บันทึกความก้าวหน้า
- อนุญาตให้ตัวเองพัก