ทฤษฎี 6 Jars กับการทำงาน
-แบ่งประเภทงานตามหลักการของเศรษฐี-
หากใครที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเงิน แนวคิดของคนรวย น่าจะเคยได้ยินทฤษฎี Six Jars จากหนังสือ Best Seller ตลอดกาลของคุณ T.Harv Eker นักเขียน วิทยากร เจ้าของธุรกิจการพัฒนาตนเองระดับโลก
ทฤษฎี Six Jars พูดถึงแนวคิดวิธีการบริหารจัดการเงินไว้อย่างน่าสนใจ
“เงินแม้จะหน้าตาเหมือนกันแต่ทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน”
เมื่อใดก็ตามที่เรามองมันเหมือนกัน ไม่ดูแลให้มันทำงานตามหน้าที่ที่ควรทำ สุดท้ายเงินก็จะหายไปโดยที่เราไม่รู้ว่าเพราะอะไร และนั่นเป็นสิ่งที่คนรวยจะไม่ทำโดยเด็ดขาด คนรวยหรือเศรษฐีจะบริหารจัดการเงินอย่างชาญฉลาด ซึ่งฟังดูน่าสนใจ และชวนคิดว่าเราสามารถนำหลักการนี้มาแบ่งประเภทของงานได้หรือไม่ คำตอบคือได้สิจ๊ะ เพราะผมจะทำให้มันได้ 555
กระปุกใบที่ 1 (10%)
งานที่ทำเพื่อ Lifestyle ที่ต้องการ
“ไม่ทำไม่ได้ ทำวันละนิดก็ยังดี ทำแล้วเก็บสะสมเป็น Portfolio ไว้”
กระปุกใบแรกเป็นใบที่สำคัญมาก ๆ หากคุณอยากมีรูปแบบชีวิตที่ตื่นเช้ามามีพลังเต็มเปี่ยมแทบจะกระโดดจากเตียงออกไปใช้ชีวิต คุณต้องหาและทำงานที่ทำให้คุณไปถึงจุดนั้น
อาจารย์ทางด้านวิทยากรของผมเล่าให้ฟังว่าในวัย 30 ท่านตัดสินใจที่จะเป็นวิทยากรเมื่อตัวเองอายุ 40 ตอนนั้นท่านประกอบวิชาชีพด้านบัญชี ซึ่งยากมากที่มันจะบรรจบกัน สิ่งที่ท่านทำคือท่านเสนอตัวเป็นเทรนเนอร์ในองค์กร ตั้งใจเรียนทุกหลักสูตรที่บริษัทจัดอบรม มองหาบริษัทที่จะทำให้ตัวเองได้ขยับไปสู่ Lifestyle ที่ตัวเองวาดฝันไว้ ปรับตัวเองจากงานด้านบัญชีไปสู่งานฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อเข้าใจงานพัฒนาคนและเข้าใจลูกค้า (HR จ้างวิทยากร) ในวัย 41 ท่านได้ลาออกจากงานประจำ มาใช้ชีวิตในแบบที่ท่านต้องการ
สิบปีผ่านไป งานสอนของท่านสร้างรายได้ 6 หลักต่อวัน เดือนหนึ่งน่าจะมากกว่า 10 วัน มีเวลาออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ ดูแลผู้ใหญ่ พาภรรยาไปดูหนังเสมอ ๆ ดูแลลูกศิษย์ด้วยความเมตตา งานประเภทนี้ส่วนใหญ่คนมักไม่ค่อยมองหา ไม่เก็บสะสมประสบการณ์ให้มากพอ เมื่อประสบการณ์ไม่มากพอก็ไม่มีใครว่าจ้างหรือใช้บริการ และนั่นทำให้พวกเขาต้องทำงานที่พวกเขาไม่อยากทำในที่สุด
กระปุกใบที่ 2 (10%)
งานที่ทำเพื่อความก้าวหน้าระยะยาว
“งานที่รู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งต้องทำได้
ทำงานเพื่อให้ตัวเองพร้อม
รับมือกับงานในวันข้างหน้า”
อีก 5 ปี คุณมองเห็นตัวเองเป็นอย่างไร? นี่คือคำถามสุดคลาสสิกที่ HR มักจะถามคุณเวลาสมัครงาน อีก 10 ปี คุณอยากเห็นองค์กรของคุณเดินไปในทิศทางไหน นี่คือคำถามสุดคลาสสิกเช่นกัน เวลาที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารคุยกัน
ผมเคยมีงานหนึ่งงานที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรที่ผมทำอยู่เลยนั่นคือการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ได้ระดับสูงสุด เพราะตอนนั้นผมเห็นแล้วว่าผู้บริหารระดับสูงคนไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากความรู้ทางวิศวกรรมแล้ว พวกเขายังเข้าใจภาษาในระดับที่ลึกสุด ๆ ผมจึงใช้เวลา 8 ปี ในการทำงานส่วนนี้ อ่านหนังสือ ฟังบทสนทนา ทำแบบทดสอบบนรถบัสหลังเลิกงาน ใช้เวลาครึ่งวันเสาร์เรียนภาษาด้วยเงินทุนของตัวเอง หมดไปก็ไม่น้อย และผลลัพธ์มันก็สุดจะคุ้มค่า ผมได้รับการเลื่อนขั้นแบบ Fast Promote ในทุกครั้งที่ได้รับโอกาส ยิ่งเราเห็นภาพข้างหน้าชัด เรายิ่งกำหนดมันได้ง่าย
5 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็นตัวเองเป็นอะไรและคน ๆ นั้นต้องทำอะไรได้บ้าง แล้วงานประเภทไหนในตอนนี้ที่จะทำให้คุณก้าวไปสู่จุดนั้น?
กระปุกใบที่ 3 (10%)
งานที่ทำเพื่อการเรียนรู้พัฒนาตนเอง
“ไม่ได้ผลงานตรงแต่ได้อะไรใหม่ ๆ
ได้ความรู้ใหม่ไปต่อยอด”
ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ตอนเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทขอให้ผมช่วยไปพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ที่เข้างานใหม่ทุก ๆ เดือน มันเป็นงานที่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับการประเมินเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่งหรืองานเขียนบทความลงนิตยสารบริษัท ซึ่งก็แทบจะไม่ได้ตรงกับงานของผมตอนนั้น
แต่ผมยินดีเปิดรับทุกโอกาส เพราะงานบางประเภท ณ ตอนที่ทำ เราแทบไม่รู้เลยว่ามันจะไปใช้อะไรได้ แต่ผมได้เรียนรู้ว่าการทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เปิดแผนที่ที่ชื่อว่า “ศักยภาพ” ของตัวเองได้มากขึ้น รู้ว่าถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร และทั้งสองงานที่ผมได้รับมอบหมายวันนั้นทำให้ผมรู้ว่าผมเป็นคนที่สามารถเขียนสื่อสารในระดับที่ประกอบอาชีพได้ในที่สุด
ถามตัวเองกันครับว่างานที่กำลังจะรับ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง และถ้าคำตอบคือมี ก็ลุยเลย
กระปุกใบที่ 4 (55%)
งานที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพให้มีกินใช้
“ต้องรู้สึกขอบคุณมัน
แต่ไม่ควรทำงานอย่างนี้ประเภทเดียว
เพราะสุดท้ายชีวิตจะไม่เติมเต็ม”
งานของใครหลาย ๆ คนมักไม่ใช่งานที่รักเสียทีเดียว แต่ก็ต้องทำ เพราะต้องเลี้ยงชีพ ข้ออ้างของหลาย ๆ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักใช้คือ
“งานที่ทำทุกวันนี้ก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว”
“เลี้ยงปากท้องได้ก็พอแล้ว จะเอาอะไรมากมาย”
“ต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นหรอก”
หากเรามีทัศนคติเป็นลบต่อการทำงานเลี้ยงปากท้อง ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของงานที่เราทำแล้วละก็ เราไม่สามารถก้าวข้ามไปทำงานกระปุกอื่น ๆ ได้เลย
การทำงานที่ใช้เลี้ยงปากท้องนั้นทรงคุณค่ามาก เพราะทำให้เราไม่อดตาย มีเงินเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว คนรัก เป็นพื้นฐานของชีวิต แต่ก็อย่ามุ่งมั่นทำงานนี้อย่างเดียว จนไม่มีเวลาเหลือให้งานกระปุกอื่น ๆ บ้าง เพราะนั่นเท่ากับเราไม่ได้บริหารงาน ไม่ได้บริหารชีวิตเพื่อไปยังจุดที่เราต้องการ
อย่าลืมหาเวลางานอื่นเพื่อเติมเต็มชีวิตกันด้วยนะฮะ
กระปุกใบที่ 5 (10%)
งานที่ทำเพื่อความสนุก
“เพื่อให้ได้รู้จักคนมากขึ้น
รู้สึกสนุกกับชีวิต ทำงานได้มากขึ้น
ไม่เน้นผลลัพธ์ ทำเอามัน”
มีอยู่ปีหนึ่งในการทำงาน ผมแอบอิ่มตัวเล็ก ๆ เพราะมีแต่งานซ้ำ ๆ ไม่ท้าทาย ผมเลยมองหากิจกรรมอะไรสนุก ๆ เติมเชื้อไฟให้กับชีวิต และโชคดีมากที่มันผ่านเข้ามา มันคือกิจกรรมประกวดไอเดีย Concept Car ของบริษัท ผม Set ทีมงานขึ้นมา 5 คน ส่วนใหญ่เป็นน้อง ๆ อายุงานยังไม่มาก แต่ทุกคนล้วนยังมีความฝันว่าวันหนึ่งจะได้เห็นไอเดียตัวเองกลายเป็นรถยนต์โลดแล่นบนถนนจริง ๆ พวกเราใช้เวลาหลังเลิกงานนัดประชุมกันเอง พูดคุยกับดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศ คุยจนถึงสี่ทุ่ม พอตกผลึกก็แยกย้ายกลับบ้าน ไปปั่น Slide Presentation ต่อ บางคืนก็ตี 2 เป็นงานที่ไม่ได้อะไรนอกจากความมัน
ตอนนั้นแรงจูงใจของผมสูงมากด้วยเหตุผลสองอย่าง อยากให้น้อง ๆ ได้รู้สึกดีและสนุกกับการทำงานในบริษัท อยากให้น้องได้ไปสัมผัสประสบการณ์ต่างแดน โชคดี (อีกแล้ว) ที่ผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจ ทีมของเราชนะเลิศการประกวดตัวแทนบริษัทได้ไปนำเสนอไอเดียทั้งที่ญี่ปุ่นและสเปน
กลับมาที่แก่นของกระปุกนี้ โลกความเป็นจริงคือยังไงเสียเราก็ต้องทำงานที่เราไม่อยากจะทำบ้างเป็นปกติ เมื่อเลือกไม่ได้ว่าต้องทำ ก็หางานอะไรที่ทำแล้วสนุกเติมเชื้อไฟแทนละกัน เลือกไม่ทำไม่ได้แต่น่าจะเลือกได้ว่าจะทำอะไรสนุก ๆ เนอะ^^
กระปุกใบที่ 6 (5%)
งานที่ทำเพื่อช่วยเหลือสังคม
“ต้องมีไว้เพื่อเติมเต็ม
ให้ในระดับที่ไม่กระทบงานอื่น ๆ
ชีวิตจะเป็นสุข”
เคยเจ็บปวดกับการโดนปฏิเสธว่า “พี่ยุ่งจริง ๆ ช่วยไม่ได้ ขอโทษนะ”
กันบ้างไหมครับ หรือบางทีเราเองนั่นแหละที่เป็นคนต้องปฏิเสธ แถมก็ไม่ได้รู้สึกดีนะ แต่เรื่องที่เขาขอให้ทำนั้น มันมากเกินไปที่จะช่วยได้ นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ Set เวลาส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ๆ ไว้ในการทำงานครับ
Set เวลาไว้เลยดียังไง มีโควตาเวลาพร้อมช่วยคนอื่นได้เสมอ
รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเมื่อได้ช่วยคนอื่น ไม่รู้สึกผิดหากเขาขอให้ช่วยแล้วให้เขาไม่ได้เลย (ขอ 10 ไม่ให้เลย กับขอ 10 ให้ 5 ความรู้สึกต่างกันนะฮะ)
ผมเชื่อในคำที่ว่ายิ่งให้ยิ่งได้ครับ ถ้าเราไม่ให้เลย เราจะไม่ได้รับอะไรเลยเช่นกัน แต่ไม่ต้องให้เขาจนตัวเองไม่มีจะกิน ให้เขาในระดับที่เราไม่ลำบากและสบายใจที่จะให้ นั่นคือคำตอบที่ดีที่สุด อย่าลืมแบ่งเวลางานส่วนหนึ่งทำเพื่อช่วยเหลือสังคมกับเพื่อนร่วมงานนะฮะ
สัดส่วนเท่าไหรดี? ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ก็ขออ้างทฤษฏี Six Jars ไว้ก่อนนะครับ
Lifestyle : 10%
ความก้าวหน้า : 10%
การเรียนรู้ : 10%
การเลี้ยงชีพ : 55%
ความสนุก : 10%
ช่วยเหลือสังคม : 5%
Note: สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านทฤษฏี Six Jars
1. FFA (10%) : Financial Free Account กระปุกเงินสำหรับสะสมเพื่ออิสรภาพทางการเงิน
2. LVSS (10%) : Long Term Saving For Spending กระปุกเงินสำหรับสะสมเงินเพื่อใช้จ่ายระยะยาว (บ้าน รถ)
3. EDU (10%) : Education กระปุกเงินสำหรับการเรียนรู้ (เรียนต่อ เข้าสัมมนา ซื้อหนังสือ)
4. NEC (55%) : Necessities กระปุกเงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่ากิน)
5. Play (10%) : Play กระปุกเงินสำหรับเพื่อความสนุกในชีวิต (กิน เที่ยว ซื้อของเล่น)
6. Give (5%) : Give กระปุกเงินสำหรับบริจาค (ทำบุญ ช่วยเหลือมูลนิธิ)
ไอเดียที่ผมคิดมาจากหนังสือเล่มนี้ครับ
Secret of the Millionaire Mind ชื่อไทยว่า ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน
เขียนโดย T.Harv Eker นักพูด นักเขียน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ