6 สิ่งที่นักเขียน Bestseller ชื่อดัง ทำแตกต่างจากคนอื่น

“Successful people do not do different things, they do things differently.”
“คนสำเร็จไม่ได้ทำสิ่งที่แตกต่าง แต่เขาทำด้วยวิธีที่ต่างออกไป”
8 ปีที่เปิดเพจสรุปให้และทำ Podcast ผมได้สัมภาษณ์นักเขียนกว่า 30 คน หลายท่านมีผลงานระดับ Bestseller เช่น พี่หนุ่ม Money Coach, อาจารย์ นภดล ร่มโพธิ์ จาก Nopadol’s Story, อาจารย์หนุ่ย การตลาดวันละตอน, ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์เกด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น, คุณฟ้าใส Fit Junctions, คุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI ระดับประเทศ

Fig.1 ตัวอย่าง Live สัมภาษณ์นักเขียนระดับประเทศใน YouTube สรุปให้
ทุกท่านที่ผมเอ่ยชื่อมาก็ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มีกิจกรรมที่ชอบอย่างดูฟุตบอล แต่งรถ ตามหาของอร่อยทานกับคนที่รัก สะสมของเล่น เหมือนคนทั่วไป เพียงแค่มีบางอย่างที่พวกเขาคิดและทำต่างออกไป
ผมสรุปได้ว่าสิ่งที่เหล่า Avengers แห่งวงการหนังสือไทยที่ผมเอ่ยมานั้นมีร่วมกัน 6 ข้อดังนี้
1. เขียนเพราะอยากให้ ไม่ได้เขียนเพราะอยากได้
“ตลาดหุ้นให้อะไรกับผมมาก ผมได้ค้นพบอิสรภาพทางการเงินได้เร็วกว่าที่คิด ทำให้ผมอยากตอบแทนสิ่งที่ผมได้มาคืนสู่สังคมด้วยการมอบรายได้ในส่วนของผมที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ให้กับมูลนิธิ..”
พี่กวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์ นักลงทุนในหุ้นคุณค่า เขียนเจตนารมณ์ตัวเองไว้ในหนังสือระดับตำนานแห่งวงการลงทุนอย่าง “เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืน”

สัมภาษณ์พี่กวี ชูกิจเกษม นักลงทุนหุ้นคุณค่า เจ้าของหนังสือ “เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืน”
ช่วงที่สัมภาษณ์พี่กวีผ่าน Live เป็นช่วงสถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤต สายพันธุ์เดลต้าเล่นงานผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจนโรงพยาบาลล้น ตัวผมเองไม่ได้สามารถทำอะไรได้ในทางสาธารณสุข จึงประกาศผ่านเพจให้คนใจบุญซื้อหนังสือ เรียนคอร์สสรุปหนังสือ เพื่อนำรายได้ทั้งหมด ไม่หักต้นทุน นำเข้าไปสมทบการทำเตียงออกซิเจนให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
นอกจากนั้นก็ชวนพี่น้องในวงการ Influencer มา Live ให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ในช่วง Lock Down พี่กวีก็เป็น 1 ในท่านที่ตอบรับมาแม้เราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าเขียนหนังสือแล้วห้ามรับเงิน ทำ Live ทำคอร์ส ไม่ควรรับรายได้ แต่อยากจะสื่อถึงจุดตั้งต้นของนักเขียน Bestseller หลายท่านที่ผมรู้จักว่าจุดเริ่มต้นการเขียนมาจากเป้าหมายคืออยากตอบแทน อยากส่งคืนความรู้ในสิ่งที่ตัวเองได้รับมาก่อน พี่กวีเป็นหนึ่งในแบบอย่างนั้น
ถ้าเป้าหมายคืออยากให้ก่อน ไม่ใช่อยากได้ก่อน เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เขียนเป็นประโยชน์ เปลี่ยนชีวิตคน ได้แรงจูงใจในการเขียน ความเชื่อมั่นก็จะผลักดันให้เราทำสำเร็จง่ายขึ้น
ทางกลับกัน ถ้าเราตั้งเป้าหลักเป็นสร้างรายได้ ซึ่งไม่ผิด เราทุกคนรวมถึงผมล้วนต้องการเงินเพื่อดูแลคนที่เรารัก แค่คุณอาจเหมือนตอนผมเขียนหนังสือเล่มแรก ยังไม่มั่นใจว่าหนังสือตัวเองจะมีคนซื้อ พอคิดเรื่องหาเงินจะเขียนไม่ออกครับ พอกดดัน กังวลว่าจะไม่ดี กลัวผู้อ่านตำหนิ ผมมักจะหยุดเขียนดื้อ ๆ (ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างนั้นทุกคนนะครับ)
2. ไม่ใช่แค่อ่าน แต่อ่านอย่างมีเป้าหมาย
พี่ฟ้า หรือ ฟ้าใส พึ่งอุดม เจ้าของ Fit Junctions ไอคอนด้านการออกกำลังกาย ฟิตเนส ของประเทศไทยตอนนี้ พูดถึงตัวเองว่าสมัยวัยรุ่นเป็นเด็กเนิร์ด ตัวเล็ก ผอม มีพุง จึงมักถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเป็นประจำ ทำให้สนใจเรื่องการเพิ่มกล้ามเนื้อ ดูแลสุขภาพตั้งแต่ปี 2007-2010 เขาเริ่มทานอาหารแบบ Keto หรือการทานอาหารเน้นไขมันธรรมชาติ เพื่อปรับระบบการเผาผลาญของร่างกาย

พี่ฟ้า ฟ้าใส พึ่งอุดม เจ้าของหนังสือ Lean Smart Science
หลักการคิดเพื่อเขียนหนังสือของพี่ฟ้าน่าสนใจมาก เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การนำประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้ลดน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อในแต่ละแบบมารีวิวว่าแบบไหนได้ผล ไม่ได้ผล ไม่ส่งผลดีนัก
หนังสือของพี่ฟ้าจึงชื่อว่า Lean Smart Science เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ของการควบคุมน้ำหนักที่มีที่มาที่ไปชัดเจน เต็มไปด้วยงานวิจัย การทดลองมาสนับสนุน ทำให้เราเข้าใจแก่นมากกว่าสนใจวิธีการ
ผมถอดไอเดียตรงนี้มาได้เพราะพี่ฟ้าเล่าว่าเขาเป็นนักเรียนนอก เติบโตมากับการตั้งคำถามว่าสิ่งที่อ่านนั้นเป็นข้อมูล (Information) หรือ ข้อเท็จจริง (Fact) ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้เขาต้องการพิสูจน์จนมั่นใจก่อนที่จะแนะนำ พี่ฟ้าจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือ งานวิจัย เพื่อเพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลาก่อนที่จะทำคลิปยูทูบหรือเขียนหนังสือ
เรื่องของพี่ฟ้าย้ำเตือนผมว่าให้อ่านอย่างมีเป้าหมาย คิดให้ลึกซึ้งกว่าเดิม นำสิ่งที่อ่านมาเปลี่ยนเป็นคุณค่าในหนังสือของตัวเอง
3. ไม่ได้คิดว่าจะเขียน แต่คิดว่าอยากเล่า
คนแรกที่ผมนึกถึงในหัวข้อนี้คือ คุณหมอแบงค์ นพ.ธนณพัฒฒ์ นาตะสุต เจ้าของสูตรอาหารต้นทางที่แรกในประเทศไทย
“คุณแม่ของหมอหาทางลดน้ำหนักมาทั้งชีวิต หมดเงินไปกว่า 500,000 บาท ตั้งแต่หมอยังเป็นเด็ก…ซึ่งทุกวิธีได้ผลตอนช่วงทำ แต่พอเลิก น้ำหนักก็ตีกลับ ความอยากขนมหวานเข้าครอบงำ…หมอใช้เวลาคลำทางอยู่ในแวดวงลดน้ำหนักมาร่วม 10 ปี ลองผิดลองถูกกับทั้งตัวเองและคุณแม่ จนในที่สุดหมอก็พบทางออกที่เปลี่ยนชีวิตหมอและคุณแม่ไปตลอดกาล” (จากส่วนหนึ่งในคำนำผู้เขียนหนังสือ“ผอมทันที สุขภาพดี 100%”)
ตอนที่สัมภาษณ์ หมอพูดว่าอยากให้คนที่คล้ายแม่ได้ความรู้ด้านสุขภาพที่หมอสะสมมากว่า 10 ปี การันตีว่าเซฟเงินได้มากกว่า 500,000 ในราคาหนังสือไม่กี่ร้อย หมอตั้งใจเขียนให้คุณแม่อ่าน ดังนั้นมันต้องง่ายสำหรับทุกคน

หมอแบงค์ นพ.ธนณพัฒฒ์ นาตะสุต ผู้เขียนหนังสือ“ผอมทันที สุขภาพดี 100%”
วันนั้นเป็นการสัมภาษณ์สดในคลาส How to Make Bestseller Book เขียนได้ ขายดี ของผมเอง นอกจากสัมผัสได้ถึง Passion ของหมอ ผมยังเห็นถึงความประทับใจผ่านสีหน้าของผู้เข้าอบรมกว่า 10 ท่านได้อย่างดี
ประเด็นที่อยากสื่อคือหมอไม่ได้เอาการเขียนหนังสือเป็นเป้าหมาย แต่อยากเล่าประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ หมอบอกว่าใช้เวลาเขียนนานมาก พอต้นฉบับเสร็จก็เอาให้ภรรยาอ่านคนแรก แต่ฟีดแบ็กที่ได้คือ เขียนอะไร! อ่านไม่เข้าใจ (น้ำตาไหลแทนหมอ T_T)
ถ้าตั้งเป้าว่าจะเขียนหนังสือ คุณหมออาจไม่ทำต่อ (เพราะเขียนจบแล้ว) แต่เพราะหมอแบงค์อยากเล่าสิ่งที่มีประโยชน์ หมอจึงยินดีแก้ต้นฉบับเกือบทั้งหมดจนตีพิมพ์ได้
เวลาที่คิดถึงใครสักคนแล้วปราถนาดีต่อเขา อยากส่งมอบสิ่งที่คุณมี ผมเชื่อว่าคุณจะอยากทำมันต่อและผู้อ่านจะรับรู้ได้ผ่านตัวอักษรอย่างแน่นอน
4. ย้ำคิดย้ำเขียน ไม่เปลี่ยนเรื่องบ่อย

พูดคุยกับพี่หนุ่ม Money Coach ในงานเปิดตัวหนังสือ Money Summary
พี่หนุ่ม Money Coach เริ่มต้นพูดเรื่องการเงินในวันที่ใครก็ยังไม่ค่อยอินกับเรื่องการเงินส่วนบุคคล ใช้เวลากว่า 18 ปี สื่อสารเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ย่้ำไปย้ำมา จนวันนี้ถ้าเราพูดถึงเรื่องการเงินส่วนบุคคล ชื่อแรก ๆ ที่โผล่มาในความคิดของเราต้องมีพี่หนุ่มติดมาด้วยเสมอ
กับดักหนึ่งของคนเก่งและนักเขียนทั่วไปคือเปลี่ยนไปเขียนหรือพูดสิ่งที่เป็นกระแสเพื่อให้ได้พื้นที่สื่อ อย่างเช่นในเวลานี้ AI, ChatGPT เป็นไวรัล หากเราย้ายไปตามสิ่งที่ผู้คนสนใจโดยหลงลืมตัวตน สุดท้ายแล้วผู้คนก็จะจำไม่ได้เลยว่าเราเป็นใครและทำประโยชน์อะไรให้กับเขาได้
การทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทุกวันไม่ใช่เรื่องง่าย มีแต่คนที่หนักแน่นเท่านั้นที่ทำได้ ข้อดีของการยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลงคือวันหนึ่งเราจะกลายเป็นเจ้าของคีย์เวิร์ดในโลกอินเทอร์เน็ต ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าคำ ๆ นั้นมีคนค้นหาจำนวนมากและมันกำลังเป็นปัญหาของเขาอยู่ ทันทีที่เขาเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตแล้วเจอ เราให้คำตอบ โอกาสที่เขาจะจดจำเราได้ย่อมมีมากแน่นอน
ทั้งนี้ในช่วงแรกของการสร้างตัวตน เราอนุโลมให้ค้นหาตัวเองผ่านการทดลองหลาย ๆ แนวเพื่อรับฟีดแบ็ก แต่เมื่อค้นเจอแล้วว่าเราน่าจะแบ่งปันเรื่องไหนได้ดีและมีคนสนใจเยอะ การเขียนย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดภาพจำย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า
5. ไม่กลัวที่จะเริ่ม แต่กลัวที่จะเลิก

อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของ Nopadol’s Story Podcast ผู้เชี่ยวชาญด้าน OKRs
อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของ Nopadol’s Story Podcast เป็นหนึ่งในไอดอลด้านความสม่ำเสมอของผม ปัจจุบันท่านมีหนังสือที่ทั้งพิมพ์เอง ออกกับสำนักพิมพ์แล้วเกิน 20 เล่ม (เฉลี่ยเขียนหนังสือ 3 เล่มทุกปี)
Mindset หนึ่งของอาจารย์ที่ผมชอบมากคือตอนเริ่มต้นทำพอดแคสต์ เมื่อคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ ก็ไม่เสียเวลาคิดเยอะ เตรียมเนื้อหา เปิดคอมพิวเตอร์แล้วลงมืออัดทันที เอาชนะความรู้สึกที่อาจารย์บอกว่าหลายคนอาจเป็นคือ ทำแล้วกลัวไม่มีคนฟัง กลัวไม่มีใครเห็นค่า
อาจารย์กลับพูดติดตลกว่า ไม่มีคนฟังนี่น่าจะปกติ ก็ในเมื่อยังไม่มีใครรู้จักเรา ก็ต้องยังไม่มีใครฟังสิ ถ้างั้นจะสนใจอะไร เริ่มทำไปเลย แต่ถ้ามีใครสักคนฟังแล้วได้ประโยชน์ก็กำไรทันที คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจที่จะเริ่มเลย และท่านก็เขียนไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดอย่าง Weekend Entrepreneur ผู้ประกอบการวันหยุดว่า
“เวลาเริ่มต้น เราไม่ต้องเริ่มอะไรใหญ่โตครับ เริ่มเล็ก ๆ นี่แหละ แต่นี่จะเป็นจุดสำคัญมาก เพราะพอเราเริ่มแล้ว มันจะเกิดโมเมนตัม ทำให้อยากทำต่อ ลองนึกภาพเวลาเราเข็นรถดูก็ได้ ตอนที่รถจอดอยู่นิ่ง ๆ กว่าเราจะเข็นให้ขยับ เราต้องใช้แรงมาก แต่พอรถขยับแล้ว เราเข็นต่อ มันง่ายขึ้นเยอะเลย จริงไหม ทั้ง ๆ ที่รถก็คันเดิมนี่แหละ”
อีกบทเรียนยิ่งใหญ่ที่อาจารย์สอนผมผ่านชีวิตจริงคือสิ่งที่ควรกลัวคือ “เลิก” มากกว่า
วันหนึ่งผมเปิด Podcast ของอาจารย์ฟังระหว่างเดินทาง เหมือนเคย ผมแอบสัมผัสได้ว่าเสียงของอาจารย์นั้นแหบ และการหายใจดูไม่เป็นปกติเท่าไหร่ ผมทักไลน์ส่วนตัวไปว่าขอให้รักษาสุขภาพ อาจารย์ก็เพียงแค่ตอบกลับว่า “ขอบคุณ”
จนหลายเดือนต่อมา ผมได้เจอกับอาจารย์ในงาน BOOK CLUB จึงได้รู้ว่าช่วงนั้น ท่านไปผ่าตัดและเสียงที่ได้ยินคือเสียงที่อัดหลังผ่านการผ่าตัดได้ไม่นาน (ไม่แน่ใจว่าอัดในโรงพยาบาลด้วยหรือเปล่า)
แม้จะใช้เหตุผลว่า ผ่าตัด ขอหยุดพัก ก็คงไม่มีใครต่อว่า แต่อาจารย์เลือกไม่ทำ ยังคงมุ่งมั่นเข็นรถต่อ ทำให้ผมเชื่อว่า สำหรับอาจารย์ การเข็นรถ (ทำ Podcast) นั้นต้องมีความหมายกับชีวิตของอาจารย์มากทีเดียว มากจน “เลิกไม่ได้”
ถ้าตอบตัวเองได้ว่า เขียนไปทำไม อะไรจะทำให้ยังยืนหยัดเขียนได้แม้ในวันที่ร่างกาย จิตใจไม่พร้อม
คุณก็อาจจะกลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จได้เหมือนอาจารย์เช่นกัน
6. ไม่รีบ แต่ไม่เลิก
ก่อนเริ่มต้นอาชีพนักเขียนผมเคย Inbox ไปหานักเขียนในดวงใจท่านหนึ่งด้วยคำถามว่า
Q : “เวลาในการเขียนต่อหนึ่งบทความของอาจารย์ 5-6 ชม. ตามที่อาจารย์เคยเล่าในเพจนี้ รวมการหาข้อมูลด้วยหรือไหมครับ ตอนนี้ผมใช้เวลาว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วงลูก ๆ หลับเขียน จึงไม่ได้ค้นหาข้อมูลเท่าที่ควร อยากทราบว่าถ้าอยากให้บทความมีคุณภาพสูง ควรใช้เวลาสักเท่าไหร่
ได้คำตอบกลับมาแบบนี้A : “เรื่องระยะเวลาการเขียน และตัดสินงานนี่ เกดว่าถามแอดมินเพจต่างกัน คงได้คำตอบต่างกัน
เกดคิดว่าสิ่งที่ควรคิด คือ ทำเพจเพื่ออะไร (เผยแพร่ความรู้ด้านไหน ให้ใคร พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไร) ส่วนจะทำนานเท่าไหร่ หาเวลาเขียนนานไหม เขียนรูปแบบใด จะอยู่ในคำถามข้างบนแล้วค่ะ ตอบข้อแรกได้ (เผยแพร่อะไร ให้ใคร ประโยชน์ที่เขาจะได้) ก็จะตอบข้อที่สองได้ค่ะ”
จะเผยแพร่อะไร ให้ใคร พวกเขาจได้ประโยชน์อะไร
ยังอยู่ในหัวผมเสมอเวลาเขียนบทความหรือหนังสือสักเล่ม

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์เกด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น
ในบรรดานักเขียนที่ผมคิดว่าใช้เวลาเรียบเรียงข้อมูลและเขียนหนังสือนานที่สุดน่าจะเป็นอาจารย์เกด เธอมักใช้เวลาเขียนหนังสือแต่ละเล่มนานหลักปี บางเล่มอย่าง ริเน็น, Omotenashi, Makoto Marketing ก็แตะหลัก 2 ปี
ผมยังจำวันสัมภาษณ์ได้ว่าอาจารย์หยิบกระดาษหนึ่งแผ่นที่เต็มไปด้วยลายมือและเส้นเชื่อมโยงระหว่างตัวอักษรให้ดู แล้วบอกว่านี่คือหัวใจของหนังสือเล่มใหม่ ถ้ามันสมบูรณ์เมื่อไหร่ การเขียนหนังสือหนึ่งเล่มก็ไม่ยาก (หลังจากนั้นราว 2 ปีเราก็ได้เห็นหนังสือ Omotenashi)
ผมเชื่อว่านักเขียน Bestseller มีความสามารถในการเสาะหาวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อหาที่อาจารย์นำมาร้อยเรียงให้กลายเป็นหนังสือนั้นล้วนเป็นวัตถุดิบหายาก ต้องใช้เวลาและความพยายามสูง อาจารย์จึงไม่ได้เร่งรีบที่จะเขียน แต่ก็ไม่ได้ล้มเลิกที่จะเขียนให้จบเช่นกัน
บทเรียนที่ได้จากอาจารย์เกด คือ นักเขียนทุกคนมีแนวทางต่างกัน บางคนเป็นโรงงานผลิต มีขั้นตอน กระบวนการ กรอบเวลาที่ชัดเจน เริ่มแล้วต้องปิดต้นฉบับให้ได้ในเวลาเพื่อไปต่อ บางคนเป็นนักประดิษฐ์สินค้า Handmade ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์คู่กันเพื่อสร้างสรรค์สุดยอดผลงาน ทุกแบบล้วนมีคุณค่าในตัว ไม่มีอันไหนดีหรือด้อยกว่า สำคัญที่ว่าคุณรู้ตัวเองหรือไม่ว่าเป็น Type ไหน
6 สิ่งที่ผมพูดมา กลั่นมาจากประสบการณ์ของตัวเองทั้งในฐานะคนสัมภาษณ์และฐานะนักเขียน ไม่จำเป็นต้องเชื่อ อยากให้พิจารณาและวิเคราะห์ด้วยตนเองว่า เรื่องไหนบ้างที่เรานำไปใช้พัฒนางานเขียนของเราได้ และวันหนึ่งผมอาจจะมีข้อที่ 7, 8, 9 งอกมาอีกก็เป็นได้
หลังจากที่ผมได้สัมภาษณ์คุณผู้อ่านในฐานะนักเขียน Bestseller ไงครับ ^^