พนักงานแบบไหนบริษัทอยากให้อยู่ต่อ
10 ทัศนคติของพนักงานที่บริษัทยากจะเชิญออกแม้ยามวิกฤต มีความจริง 3 สิ่งที่ผมเพิ่งตระหนักรู้หลังออกมาทำอาชีพอิสระ และมั่นใจว่าถ้ารู้ตั้งแต่ตอนทำงานประจำ ผมน่าจะไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม
1.เงินเดือนมาจากยอดขายบริษัทที่ก่อตั้งเพื่อทำกำไร
ทุกบริษัทล้วนตั้งอยู่บนสมการที่ว่า “รายได้จากการขายสินค้าและบริการนำมาสู่เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน” ตอนเด็ก ๆ ผมแอบคิดเอาเองว่าทำงานให้น้อยที่สุด ลาป่วย คือกำไรของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าเงินเดือนประจำไม่มีอยู่จริง เงินเดือนมาจากลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้สินค้าและบริการของบริษัทดีขึ้น ต้นทุนถูกลง ส่งมอบได้เร็วขึ้น
2.เงินเดือน = ค่าใช้จ่ายของบริษัท
ตอนเด็ก ๆ ผมคาดหวังให้บริษัทจ่ายเงินเดือนให้ผมสูงขึ้น ๆ ทุกปี แต่พอโตขึ้น ผมกลับเริ่มอยากให้บริษัทมีผลประกอบการและรักษากำไรได้ดี เพราะผมรู้ว่าเงินเดือนของผมคือค่าใช้จ่ายของบริษัท ยิ่งบริษัทจ่ายให้เรามากเท่าไหร่ บริษัทก็แบกความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น หน้าที่ของผมจึงเป็นการทำให้การลงทุนของบริษัทนั้นคุ้มค่ามากที่สุด ถ้าผมทำได้ดี เงินเดือนผมก็จะสูงขึ้นเอง
3.บริษัทที่ไม่เชิญพนักงานออก = บริษัทที่พนักงานช่วยกันสร้างรายได้ >> ค่าใช้จ่าย
บริษัทอย่าง Chevrolet ยกเลิกการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มีพนักงานกว่า 1,500 คนได้รับผลกระทบ ในเวลาเดียวกัน Great Wall Motor บริษัทรถยนต์จากจีนก็เข้ามา Take Over โรงงานและเตรียมพร้อมจะจ้างงานจำนวนมาก แม้เวลาผ่านไปกี่ปี เรื่องนี้ก็ยังดำเนินต่อไปในโลกธุรกิจ ผมเลยตกผลึกได้ว่าบริษัทที่ไม่มีวันเชิญพนักงานออกไม่มีอยู่จริง จะมีก็แต่บริษัทที่พนักงานช่วยกันสร้างรายได้ >> ค่าใช้จ่าย
W.O.R.L.D.C.L.A.S.S 10 ทัศนคติของคนที่บริษัทอยากให้อยู่ต่อ
ผมโชคดีที่บริษัทเคยเมตตา วันที่ตัดสินใจลาออกนั้น บริษัทมีการเรียกคุยและเจรจาต่อรองให้ผมอยู่ (นับ ๆ เองก็ 9 ครั้งด้วยกัน)
ผมมานั่งนึกดูว่าเพราะแนวคิดในตัวเองข้อไหนที่ทำให้บริษัทยังอยากให้เราได้ไปต่อกับเขาทั้ง ๆ ที่เราเป็นฝ่ายขอลาออก ได้มา 10 ข้อด้วยกันครับ เพื่อให้จำง่ายเลยทำเป็นตัวย่อว่า
W.O.R.L.D.C.L.A.S.S
1.Worthy People :คนที่คุ้มค่า
2.Ownership :คิดอย่างเจ้าของบริษัท
3.Reliable : เชื่อถือได้
4.Long-Life Learner : เรียนรู้ตลอดชีวิต
5.Discipline : มีวินัย
6.Continuous Improvement : ปรับปรุงต่อเนื่อง
7. Loyalty : จงรักภักดี
8. Adaptable : ปรับตัวได้
9. Standardize : สร้างมาตรฐาน
10. Support Other : ช่วยเหลือผู้อื่น
1. Worthy people = คนที่คุ้มค่า
สมมติว่า พวกเราเปิดร้านขายหมูปิ้งหน้าออฟฟิศเจ้านาย A ปิ้งหมู และ B เก็บเงิน ทำบัญชี
A ทำงานดี เน้นทำตามหน้าที่ เข้าออกงานตรงเวลา ผ่านไปหนึ่งปี ผลประกอบการดี ขายหมูได้มากขึ้น พวกเราเลยตัดสินใจเพิ่มเงินเดือนให้จาก 300 ต่อวันเป็น 450 ต่อวัน และให้โบนัสอีก 1,200 บาท (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วเหลือ 1,000 บาทต่อวัน) ปีที่ 2 เลยจ้าง B มาเปิดสาขาเพิ่มด้วยเงินเดือน 300 บาทเท่า A ในปีแรก
B ก็ทำงานดีเช่นกัน แถมยังทำเกินหน้าที่ พูดคุยกับลูกค้า แลกไลน์ คอยถามว่าจะรับหมูปิ้งเพิ่มไหม ทำแฟนเพจ โพสต์รูปให้ความรู้ในการกินหมูปิ้งให้อร่อยและสุขภาพดี ปีที่สองรายได้บริษัทหลังหักค่าใช้จ่ายเหลือ 5,000 บาท มาจากสาขาของ A 1,500 เท่าเดิม ส่วนของ B 3,500 บาท พวกเราอยากให้เงินเดือนโบนัส A และ B เท่าไหร่
สำหรับผม การจะเพิ่มรายได้ให้ใครสักคน ความคุ้มค่าสำคัญ
คุ้มค่า = ความรู้สึกว่าได้คุณค่า (ประโยชน์) มากกว่าที่ต้องจ่าย
เมื่อผลงานดีกว่าเป้าหมาย รายได้จะยั่งยืนและมากขึ้น ถ้าเป็นคนเหมือนนาย B คือทำให้บริษัทรู้สึกคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จ่ายให้ เราก็น่าจะเป็นคนที่อยู่กับบริษัทได้ยาวนาน
2. Ownership :คิดอย่างเจ้าของบริษัท
ทำงานให้เหมือนถือหุ้นในบริษัท บริษัทโต รายได้เราก็โต สมัยเด็ก ๆ ผมเคยพารานอยด์ คิดจะลาออกจากบริษัททั้งที่เข้ามาทำงานไม่ถึง 1 เดือน เหตุผลก็คือผมไม่พอใจที่บริษัทประกาศแผนงานว่า เพื่อน ๆ ที่เข้างานมาพร้อม ๆ กันกับผมได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นเกิน 1 ปีกันกว่า 80% ส่วนผมและเพื่อนอีก 20% ได้ไปเพียง 3 เดือน บริษัทจ่ายเงินเดือน 23,750 บาทให้ผมเรียนรู้วิธีทำงานและภาษาโดยไม่ต้องทำงานเลยนาน 9 เดือน ระหว่างที่ไปญี่ปุ่น 3 เดือนนั้น บริษัทยังมีเบี้ยเลี้ยงเดินทางเพิ่มให้อีกวันละ 2,000 บาท แถมค่าเตรียมตัวเดินทางอีก 10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก ตั๋วเครื่องบิน พาสปอร์ต 9 เดือน ที่บริษัทรับผมเข้ามาดูแล บริษัทน่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉียด 500,000 บาท ถ้าคิดว่าปีนั้นมีพนักงานเข้าใหม่ 60 คน บริษัทก็มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 30,000,000 ล้าน เพื่อพนักงานเข้าใหม่ที่ยังไม่สร้างกำไรให้บริษัท แลกกับความรู้สึกของการอยากลาออก เพราะรู้สึก “ได้” ไม่มากเท่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน
อยากชวนพวกเราคิดครับว่าถ้าเราต้องจ่ายเงิน 500,000 บาท ให้ใครสักคนหนึ่ง เราคาดหวังอะไรจากเขาบ้าง และอยากให้เขารู้สึกอย่างไรกับเรา คำถามง่าย ๆ ที่ช่วงหลัง ๆ ผมพยายามฝึกฝนตัวเองเมื่อเจอวิกฤตหรือความท้าทาย “ถ้าเราเป็นเจ้าของเงิน เจ้าของบริษัท เราจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้” สำหรับผมนี่คือการคิดอย่างเจ้าของครับ พูดเลยครับแบบไม่โลกสวย ไม่ง่ายเลยที่จะคิดได้ แต่ถ้าคิดได้ วันหนึ่งพวกเราจะไปได้ไกลกว่าเดิมแน่นอน
3. Reliable : เชื่อถือได้
ปีที่แล้วมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากชื่อว่า “หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกติดตัวไปทำงานทุกวัน” เขียนโดยคุณ Komiya Kazuyoshi
เหตุที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีนโยบายปลดพนักงานออกอาจจะเป็นเพราะความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่า “ทำงานธรรมดาให้ดีที่สุด” หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่างานอะไรที่ได้รับมอบหมายก็จะทำให้ดีที่สุด ถ้าเชื่อ คิด และทำอย่างนี้กันทั้งบริษัท ก็ยากมาก ๆ ที่บริษัทนั้นจะมีผลประกอบการเป็นลบในระยะยาว
สำหรับผม พนักงานที่บริษัทอยากให้อยู่ต่อคือคนที่บริษัทสามารถเชื่อใจ ไว้วางใจให้รับผิดชอบอนาคตของบริษัทและคน ๆ นั้นก็น่าจะต้องเป็นคนที่ทำเรื่องธรรมดาอย่างดีที่สุดเช่นกัน
ทิ้งท้ายด้วยคำคมของคุณ Komiya ในหนังสือเล่มนี้ครับ
“คนที่แค่งานธรรมดายังทำออกมาให้ดีไม่ได้ ย่อมยากที่จะมีคนไว้ใจให้ทำงานสำคัญ”
4. Long-Life Learner : เรียนรู้ตลอดชีวิต
หลายคนที่ไปได้ไม่ดีนักในอาชีพการงานเพราะความเชื่อว่า
=============
เรียนจบ = จบการเรียนรู้
=============
เพื่อให้เราเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนังสือ Super Productive ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ได้แนะนำ 4 วิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง
1. กฎ 5 ชั่วโมงของ Benjamin Franklin เรียนรู้เรื่องใหม่ที่สนใจ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง ทำให้สม่ำเสมอ
2. Active Learning : Bill Gates ผู้รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยวิธีการจดบันทึกในช่องว่างของหนังสือ (Marginalia) วิธีนี้เป็นวิธีการเปลี่ยน Input ให้เป็น Output อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพมาก ๆ เสริมให้นิดว่าหนังสือญี่ปุ่นขายดีอย่าง The Power of Output ของคุณ Kabasawa Shion ที่ผมเคยรีวิวไว้ก็กล่าวไว้เช่นกันว่าถ้าจะเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพนั้นควรใช้สัดส่วน Input : Output เป็น 3:7
3. จัดลำดับความสำคัญด้วยกฎ 80:20 Pareto Principle หรือที่เรารู้จักกันในกฎ 80:20 จะช่วยคัดกรองสิ่งที่เราเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมรีวิวไว้ “ความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน” ของคุณ Daigo ก็พูดถึงการใช้หลักการนี้ในการพัฒนาตัวเองให้สามารถอ่านหนังสือได้ 10-20 เล่มต่อวัน เคล็ดลับคือไม่อ่านทั้งเล่ม แต่จะเลือกสิ่งที่ต้องการและอ่านเฉพาะส่วนที่คิดว่าสำคัญ
4. ค้นหาแรงบันดาลใจ ถ้าเศรษฐีวัย 60 อย่าง Mark Cuban กำลังสนุกกับการเรียนเขียนโค้ดภาษาสมัยใหม่อย่าง Python เพราะเขาเชื่อว่ายุคสมัยใหม่นั้น คนที่เอาตัวรอดได้ต้องควบคุม AI ได้ เราที่อายุน้อยกว่าหรือใกล้เคียงคงไม่สามารถมีข้ออ้างได้
5.Discipline : มีวินัย
Discipline หรือ วินัย เป็นหนึ่งใน competency หรือความสามารถที่โรงเรียน บริษัท ใช้ประเมินคุณค่าของคน ๆ หนึ่งมาตลอด มาเรียนครบจำนวนไหม มาทำงานตรงเวลาไหม Warren Buffett หนึ่งในนักลงทุนระดับโลก พูดไว้ถึงวิธีจะประสบความสำเร็จว่า
“We don’t have to be smarter than the rest. We have to be more disciplined than the rest.”
ไม่จำเป็นต้องเก่งกว่า แค่ต้องมีวินัยมากกว่า Warren ไม่ใช่แค่พูด แต่เขาพิสูจน์ด้วยการทำงานแบบเดิม ๆ คืออ่านหนังสือ ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนวันละ 400-500 หน้าทุกวันเป็นเวลาหลายสิบปี ขยันทำงานได้ผลลัพธ์ที่ดีอาจจะช่วยให้โบนัสในปีนั้น ๆ ดี แต่วินัยจะช่วยให้เรามีรายได้ตลอดไปอย่างสม่ำเสมอ
เกร็ดความรู้
Performance Appraisal : การประเมินจากผลงานที่พนักงานทำได้สะท้อนไปยังผลตอบแทนระยะสั้นเช่น โบนัส Competency Appraisal : การประเมินจากความสามารถที่พนักงานมีสะท้อนถึงเงินเดือนที่พนักงานควรจะได้ (ระยะยาว ต่อเนื่อง)
6.Continuous Improvement : ปรับปรุงต่อเนื่อง
“โรงงานของเรา พื้นเอาลิ้นเลียได้” รองประธานบริษัทพูดให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ ผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทญี่ปุ่นระดับโลกแห่งหนึ่งหลังได้ยินประโยคนี้ สาบานว่าแอบคิดในใจว่า “ขี้โม้” แต่หลังจากท่านพาไปหน้างานจริง ความคิดผมก็เปลี่ยนไป เพราะมันสะอาดเบอร์นั้นเลย นอกจากเรื่องความสะอาดแล้ว บริษัทนี้ยังสามารถสร้างมาตรฐานทำงานที่สูงติดอันดับโลกได้มากมาย กลายเป็นสถานที่ที่บริษัทในเครือทั่วโลกมาดูงาน
รองประธานบริษัทท่านนี้เล่าให้ฟังว่าเคล็ดลับที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้คือมีกิจกรรมปรับปรุงพัฒนางานให้พนักงานทำทุกวัน ย้ำทุกวัน สโลแกนใหม่ที่บริษัทนี้ใช้คือ 1 Sec Continuous Improvement แม้จะว่างแค่ 1 วินาทีก็จงมองหาปัญหาและไอเดียการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทนี้อยู่ได้อย่างแข็งแรงแม้ในยามที่ธุรกิจถูก Disrupt สามารถปรับไลน์การผลิตให้แข่งขันกับบริษัทระดับโลกได้ เรื่องเหล่านี้ตอกย้ำสมการชีวิตที่ผมตกผลึกได้ 1.01^365 ⁼ 38 แม้จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าทำสม่ำเสมอทุกวัน 1 ปีผ่านไปเราจะเก่งเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นได้ถึง 38 เท่า ถ้าเราเก่งขึ้นได้ทุกวันก็ยากที่บริษัทจะมองไม่เห็น
เล็กน้อย x สม่ำเสมอ ⁼ มหาศาล
7. Loyalty : จงรักภักดี
คืนพายุแรงคืนหนึ่งในชิคาโก ชายคนหนึ่งเดินฝ่าพายุลงจากรถตัวเองมาช่วยเจ้าของรถยนต์โตโยต้าคันหนึ่งที่มีปัญหาที่ปัดน้ำฝนพังหลังซ่อมเสร็จ ด้วยความประหลาดใจ เจ้าของรถยนต์โตโยต้าจึงถามว่าเพราะอะไรถึงกับยอมฝ่าพายุมาช่วยคนที่ไม่รู้จัก ชายผู้นั้นตอบว่าเขาเป็นพนักงานเกษียณของโตโยต้า และเขาแค่ทนไม่ได้ที่เห็นรถยนต์ของบริษัทตัวเองสร้างปัญหาให้ลูกค้า เรื่องเล่าที่คุณต้อง กวีวุฒิ เล่าให้ฟังทำให้ผมตกผลึกได้ว่าตัวเรา = ภาพลักษณ์
บริษัทวางตัวดีมีส่วนช่วยให้ลูกค้าชื่นชมบริษัท และการวางตัวได้ดีเริ่มจากมีมุมมองที่ดี จงรักภักดีบริษัท พูดถึงในแง่ดี ต่อว่าบริษัทให้คนอื่นได้ยินไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะนอกจากทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดีกับบริษัทและเขาอาจจะคิดกับเราได้ว่า “ถ้ามันแย่ขนาดนั้นทำไมไม่หาที่ใหม่ที่ดีกว่าล่ะ ที่ไม่ไปไหนก็เพราะเธอไม่มีที่ไปหรือเปล่า” เป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้บริษัทกันครับ
8. Adaptable : ปรับตัวได้
บริษัทแห่งหนึ่งที่ผมเพิ่งไปดูงานมาสามารถฝึกให้พนักงานเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์และกล้อง สำหรับตรวจสอบชิ้นงานได้ แถมยังสร้างหุ่นยนต์ช่วยการผลิตได้ด้วยทั้ง ๆ ที่ 2 ปีก่อนหน้าพวกเขาไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้เลย
================
ปี 2008 แผนกผมคนลาออกเยอะ ผู้บริหารจึงมีนโยบายว่าอยากให้พนักงานทำงานทดแทนกันได้ หากมีใครสักคนออกไป ทุกคนต้องเรียนรู้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า
“ทำไมเหนื่อยต้องสองเท่า (วะ)”
“ทำหรือไม่ทำ
เงินเดือนโบนัสก็ได้เท่าเดิม”
เคยมีความรู้สึกแบบนี้
เหมือนผมบ้างไหมฮะ
“เรากำลังถูกบริษัทเอาเปรียบ”
================
หลังออกจากงานประจำ ผมถึงได้เข้าใจว่ารายได้มาจากการสร้างคุณค่า คนที่ไม่สร้างคุณค่า วันหนึ่งก็จะไม่ได้ผลตอบแทน (แต่จะช้าเร็ว บอกไม่ได้) หากเมื่อใดที่คุณหยุดงาน ไม่สร้างคุณค่ายาว ๆ รายได้ตรงนั้นก็จะหายไป ไม่ต่างอะไรกับคนทำงานฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจ เพียงแค่ผลกระทบของพนักงานนั้นอาจจะน้อยกว่า เพราะบริษัทแบกรับความเสี่ยงให้ส่วนหนึ่ง
“ทำไมต้องปรับตัว ทำทำไมหลายอย่าง ยังไงเงินเดือนกับโบนัสก็เท่าเดิม” สำหรับผม ความคิดที่เปลี่ยนไป คือคุณอาจจะไม่ได้กระทั่งเงินเดือน หากบริษัทที่คุณทำงานอยู่นั้นไม่มีกำไร ถ้าเมื่อใดมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และสร้างคุณค่าให้มากขึ้น ลองยิ้มรับมันนะครับ เพราะมันอาจลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับเราได้
9. Standardize : สร้างมาตรฐาน
Fujio Cho อดีตประธานบริษัท Toyota กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
“เราสร้างผลลัพธ์ที่ดีจากคนธรรมดาที่ทำตามกระบวนการที่ยอดเยี่ยม ในขณะที่คู่แข่งของเราที่ผลประกอบการไม่ดีนั้น อาจจะให้อัจฉริยะทำงานบนกระบวนการที่ยอดแย่”
การสร้างมาตรฐานงานที่ดีพอที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น ใครทำซ้ำก็ได้ จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่ใช้ชี้วัดความสามารถของพนักงานที่จะก้าวเป็นระดับบริหาร
ประโยคติดปากที่เซนเซเล็กพูดเสมอ
Good Process Lead to Good Result
ถ้าหมั่นสร้างกระบวนการที่ดี สร้างมาตรฐานได้ ก็เป็นไปได้สูงว่าเราจะเป็นคนที่ได้ไปต่อครับ
10. Support Other : ช่วยเหลือผู้อื่น
แผนกที่ผมเคยอยู่เป็นหนึ่งในแผนกที่มีผลผลิตรายงานมากเป็นอันดับต้น ๆ มีงานหลาย ๆ ตัว ใช้เวลาวิจัยเป็นปี จนต้องปิดงานสิ้นปีเท่านั้น ทำงานปลายปี งานจะเยอะเป็นพิเศษ แต่ความพิเศษคือเราแทบไม่เคยส่งงานผิดกำหนดเส้นตายเลย สมัยนั้นคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดคือน้องคนหนึ่งที่ชื่อนัท
นัทเป็นคนพูดน้อย แสดงออกไม่เก่ง แต่ทุกคนที่อยู่กับนัทจะรู้ว่าทุกครั้งที่ต้องการจิตอาสา นัทจะเป็นคนแรกที่ยกมือและจะเป็นคนสุดท้ายที่กลับบ้าน นัทมีความใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม แม้บางเรื่องทำเองไม่ได้ นัทก็จะมาปรึกษา หาคนไปจัดการให้ทุกครั้ง
นัทเป็นคนไม่เกี่ยงงานหากงานนั้นเป็นงานส่วนรวม แม้งานหลักตัวเองจะหนักแค่ไหน ถ้าเป็นงานเพื่อทีมเธอสู้ถวายหัว นัทไม่เคยปฏิเสธเพื่อน เดือดร้อนอะไรมา ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราจะเห็นนัทอยู่ตรงนั้นเสมอ
ช่วงยังไม่ซื้อรถ วันไหนทำงานดึก กลับรถบริษัทไม่ทัน รถนัทจะกลายสภาพเป็นรถรับส่งพนักงานทันที นั่งรอเพื่อน ๆ เสร็จงาน ไล่ส่งทุกคน ทุกบ้านที่โดยสารมากับเธอ และนี่คงเป็นหลาย ๆ เหตุผลที่เราทุกคนอยากมีนัทเป็นเพื่อนร่วมงาน นัทอาจจะไม่ได้เป็น Super Performer ในองค์กร แต่สิ่งที่นัทมีและทำก็ทำให้ Super Performer อีกหลาย ๆ คนทำงานง่ายและมีความสุขในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าผมเปิดบริษัท ผมก็อยากมีคนแบบนี้ในที่ทำงานผมครับ เพราะคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นที่ต้องการเสมอ