วิธีเลือกคนมาร่วมงานแบบญี่ปุ่น
“อยากทำงานบริษัทญี่ปุ่น อยากร่วมงานกับชาวญี่ปุ่น ต้องทำยังไงถึงได้รับเลือกครับ” เวลาไปบรรยายให้น้อง ๆ นักศึกษา พวกเขามักถามผมแบบนี้เสมอ ๆ ขอตอบด้วยเรื่องเล่านี่ละกัน
กรกฎาคม 2019 ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยตัดสินใจเลือก อากิระ นิชิโนะ ชาวญี่ปุ่นมาคุมทัพช้างศึกในการลงแข่งขันคัดเลือกเพื่อไปฟุตบอลโลกในปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ทีมงานหนึ่งตำแหน่งที่เรียกได้ว่าสำคัญมากคือล่าม ผู้ทำหน้าที่ส่งต่อความคิดและไอเดียของผู้จัดการทีมไปยังนักเตะ รวมไปถึงสิ่งที่นักเตะสงสัยเวลาปฏิบัติ มีผู้สมัครมากมายที่โปรไฟล์การทำงานและมีใจรักในกีฬาฟุตบอลพร้อมจะร่วมงานกับนิชิโนะ แต่คนที่เขาคัดเลือกกับเป็นชายวัย 30 ที่ชื่อ ณฐกร เทียมกีรกุล หรือ กร ที่ประสบการณ์ด้านฟุตบอลไม่ได้มากเท่าผู้สมัครคนอื่น ๆ เหตุผลที่ นิชิโนะ เลือกชายคนนี้เรียบง่ายจนน่าตกใจ เขาเลือกเพราะระหว่างที่ทดลองงานนั้น กรรีบวิ่งไปเข้าห้องน้ำและรีบวิ่งกลับมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ล่ามต่อ
ใบพัดที่ผิดฝั่ง เกือบพังทั้งชีวิต
ใบพัดที่ผิดฝั่ง เกือบพังทั้งชีวิต เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตัวเองตอนสัมภาษณ์งานรอบสุดท้ายกับชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน ผมนำเสนอผลงานการเขียนเครื่องบินด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างมีพลัง แต่กลับตกม้าตายง่าย ๆ เพราะตำแหน่งของใบพัดนั้นหันผิดทาง หัวหน้าชาวญี่ปุ่นท่านนั้นยิ้มและแซวผมด้วยสัญญาณมือว่า “อย่างนี้เครื่องบินตกแน่ ๆ” สิ้นสัญญาณมือนั้น ผมรู้สึกว่า “นอกจากเครื่องบินตกแล้ว กูก็คงตกสัมภาษณ์ด้วยแน่ ๆ (หัวเราะ)” แต่ผมกลับได้รับคัดเลือกทั้ง ๆ ที่โปรไฟล์หรือคะแนนด้านอื่น ๆ ของผมนั้นไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ที่ได้รับเลือกเช่นกัน
ผ่านไปสองปี หัวหน้าของผมจะหมดวาระ เตรียมย้ายไปทำงานที่อื่น ผมจึงถามเขาว่า “ทำไมเลือกผมทำงาน” คำตอบของเขาคล้าย ๆ นิชิโนะไม่น้อย “เพราะคุณดูน่าจะขยัน”
สรุปประเด็นสำคัญในการคัดเลือกคนของญี่ปุ่น
- ให้ความสำคัญ ถ้าเป็นไปได้สัมภาษณ์เอง
- ให้เวลาทดลองงาน
- ทัศนคติสำคัญไม่แพ้ความสามารถ คนเก่งเราสร้างได้ คนทัศนคติดีสร้างไม่ง่าย ถ้าผมต้องเลือก ผมขอเลือกเอาคนทัศนคติดีมาสร้างเขาให้เป็นคนเก่งครับ