ผู้นำที่ดีคืออะไร? 9 คุณสมบัติของผู้นำที่ใครก็อยากทำงานให้
15 ปี ของการทำงาน ผมโชคดีที่ได้ร่วมงานและศึกษาผู้นำเก่ง ๆ หลายท่าน
3 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขา 3 ความเป็นผู้นำฝึกฝนกันได้ Website อย่าง Forbes และ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจระดับโลกยังเคยเขียนบทความ “7 Ways To Start Building Your Leadership Skills Today” และ 7 Proven Ways to Develop Your Leadership Skill บริษัทใหญ่ ๆ ระดับประเทศอย่าง ปตท. ก็มีจัดอบรม Leadership development program
หลายคนที่บริษัท ตอนผมอายุไม่ถึง 30 ปี ผมมองเขาเป็นเพียงรุ่นพี่ที่ทำงานเก่ง แต่ 10 ปีผ่านไป เหตุการณ์หลายอย่าง ผมได้เห็นภาพผู้นำที่ดีจากเขาด้วย มากน้อยอาจจะไม่เท่ากัน แต่สำหรับผม ความเป็นผู้นำฝึกกันได้ ผู้นำมาจากการกระทำ ไม่ใช่ตำแหน่ง
ยกตัวอย่างผู้นำที่มาจากการกระทำ ไม่ใช่ตำแหน่ง เหตุการณ์ ณ ห้างสรรพสินค้า Terminal 21 จังหวัดขอนแก่น ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พร้อมลูกทีมช่วยจับคนร้าย ลงพื้นที่คดีติดตามคนร้ายปล้นชิงทองและที่ลพบุรี ลุยหน้างาน เหตุการณ์ช่วยเหลือ 9 เด็กน้อยถ้ำหลวง
ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้ผมเรียนรู้ว่า
========================
ผู้นำมาจากการกระทำ ไม่ใช่คำพูด
ตำแหน่งไม่ได้ช่วยให้เราเป็นผู้นำ
การกระทำที่เหมาะกับตำแหน่งต่างหาก
========================
ผู้นำ = คนที่คนอื่นอยากให้นำ ระหว่าง
“ผมคือผู้นำและคุณต้องเชื่อผม”
กับ
“คนนี้แหละที่เราอยากให้เขาบริหารองค์กร”
เราอยากทำงานให้ใครครับ
ผู้นำ ไม่ใช่ คนที่อยากจะนำ แต่เป็นคนที่เราอยากให้เขานำต่างหาก เห็นด้วยไหมครับ มาฝึกความเป็นผู้นำ
ลงมือทำอะไรบางอย่าง จนมีคนอยากให้เรานำทางให้พวกเขากัน
9 คุณสมบัติของผู้นำเก่งที่ผมพบมากับตัว
I : Integrity / โปร่งใส
A : Accountability รับผิดชอบการกระทำตัวเอง
M : Motivate / ปลุกใจให้อยากทำงาน
L : Leading change / ก้าวนำการเปลี่ยนแปลง
E : Eliminate waste / กำจัดความสูญเปล่า
A : Aware / ทำให้ตระหนักคุณค่าของงาน
D : Develop people / สร้างคน
E : Empathy / เอาใจใส่
R : Representative / เป็นแบบอย่าง
เช่นเคย ไม่ต้องเชื่อผม ผมอาจจะโลกสวย มองทุกอย่างเป็นไปได้ คิดวิเคราะห์ตาม ถ้าเห็นว่าดี ค่อยลองเอาไปใช้พัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้นำที่ดีกันนะครับ
I : Integrity / โปร่งใส
ตอนเข้างานใหม่ ๆ ผมแอบงงว่า ทำไมโต๊ะทำงานบริษัทญี่ปุ่น ถึงไม่มีฉากกั้นระหว่างโต๊ะ ผู้บริหารทุกคนนั่งเหมือนพนักงาน อาจจะมีโต๊ะใหญ่กว่านิดหน่อย ให้พนักงานเดินมาปรึกษาง่าย เดินผ่านด้านหลังโต๊ะก็เห็นหมดว่าผู้บริหารกำลังทำงานอะไร เพิ่งมาเข้าใจว่าเขาต้องการให้
- พนักงานทุกคนได้เรียนรู้การทำงานของผู้บริหารระดับสูง
- สร้างบรรยากาศให้เข้าถึงได้ง่าย
- ขณะเดียวกันก็เป็นการบอกผู้บริหารระดับสูงที่เงินเดือนรายได้สูงว่าอย่าปิดบัง บิดเบือนอะไร ทำงานให้โปร่งใส ใช้เวลาในบริษัทให้คุ้มค่า
-Zig Ziglar- นักเขียน นักพูด สร้างแรงบันดาลใจ พูดได้อย่างน่าสนใจว่า ความซื่อสัตย์ โปร่งใสจำเป็นมากในการประสบความสำเร็จทุกด้านของชีวิต ข่าวดีคือทุกคนสามารถพัฒนามันได้ เมื่อโปร่งใส ความไว้ใจจะเกิด การทำงานก็จะดีไปเอง ผู้นำที่ได้รับความไว้วางใจ โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ เห็นด้วยไหมครับ
A : Accountability รับผิดชอบการกระทำตัวเอง
เดือนสิงหาคม 2009 Mark Saylor โทรหา 911 ขณะขับ Lexus 350 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ Lexus คันนั้นจะวิ่งทะลุรั้ว Tollway ด้วยความเร็วสูงสุด ครอบครัว Saylor บนรถทั้งหมดจากโลกนี้ไปเพราะคันเร่งค้างจากพรมรองพื้นที่ Dealer แถมมาให้ แม้จะดูว่า Toyota เองไม่ได้ผิดโดยตรง เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ติดกับรถยนต์มาจากโรงงาน แต่ Akio Toyoda ก็ร่วมแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมกับสั่งให้วิศวกรทำงานร่วมกับศูนย์บริการอย่างเต็มที่
รถยนต์โตโยต้ารุ่นหลัง ๆ จึงมีผ้ายางรองพื้นเฉพาะรุ่นที่ทั้งล็อกกันไถลและไม่ขัดคันเร่งหรือเบรกอีกต่อไป ทุกปี Toyota ทั่วโลกจะหยุดกิจกรรมทั้งหมดในวัน Quality Day พยายามทบทวนการทำงานของตัวเองว่าจะส่งมอบคุณภาพให้ลูกค้าได้ดีขึ้นได้อย่างไร
สองประโยคที่เขาพูดไว้ในยุควิกฤตครั้งนั้น
I myself, as well as Toyota, am not perfect.
I, more than anyone, wish for our customers’ cars to be safe.
ตัวผม (Akio) ในนามของเจ้าของโตโยต้า ผมไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบแต่ผมก็ปรารถนาให้ลูกค้าทุกคนที่ใช้รถของเราปลอดภัยมากกว่าใคร
“When consumers purchase a Toyota, they are not simply purchasing a car,
truck, or van. They are placing their trust in our company.
(เพราะ) ลูกค้าที่ซื้อโตโยต้า ไม่ได้จ่ายเงินให้กับรถยนต์ กระบะ หรือ รถตู้ แต่พวกเขาจ่ายให้กับความไว้วางใจแก่บริษัทของเรา
Akio ซังสอนผมว่า ผู้นำล้วนมีวันผิดพลาด แต่พลาดแล้วควรรับผิดชอบและลงมือแก้ไข เห็นด้วยไหมครับ
M : Motivate / ปลุกใจให้อยากทำงาน
2018 ขณะอยู่ในสนามบินขอนแก่น มีเสียงโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่คุ้นโทรเข้ามาหา เป็นเสียงของชายวัยกลางคนใจดีคนหนึ่ง “เซนเซแป๊ะใช่ไหม” “ผมวิฑูรย์นะ” คุยกันเสร็จก็ทราบว่าท่านคือนายแพทย์ วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้ที่กำลังเตรียมตัวรับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (GPO) ท่านนัดเซนเซเล็กกับผมไปคุยเพื่อขอให้พวกเราช่วยไปแบ่งปันความรู้เรื่อง One Page Summary และระบบการผลิตแบบโตโยต้า สารภาพจากใจว่าตั้งใจจะปฏิเสธท่านอย่างไม่ให้เสียน้ำใจ เพราะงานช่วงนั้นหนาแน่นมาก แทบไม่มีวันได้ทำงานเขียนอยู่บ้าน
แต่ประโยคที่ท่านเอ่ยชวนทำให้เซนเซเล็กกับผมปฏิเสธไม่ได้
“เซนเซ ผมกำลังจะย้ายไปทำงานที่ GPO”
“ที่นั่นมีคนเก่งศักยภาพสูงอยู่เยอะ”
“ผมจะดีใจมากถ้าช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มศักยภาพ”
“เพราะประเทศของเราน่าจะดีขึ้น”
“มาเปลี่ยนประเทศด้วยกันไหม”
ทุกวันนี้ประโยคนี้ยังอยู่ในใจผมเสมอ
ปีนั้นผมไปบรรยายให้ GPO หลายรุ่นมาก โดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ และจะมีหรือไม่มีวันพักทำงานเขียน ส่วนเซนเซเล็กก็ยังคงทำงานที่ปรึกษาให้กับ GPO แม้จะมีคนชวนให้ไปทำงานด้วยอีกหลายราย ผอ.วิฑูรย์หรือพี่แจ๊คของพวกเราสอนผมว่า
“ผู้นำที่เก่งกาจต้องสามารถกระตุ้น
ให้ลูกน้องอยากตื่นมาทำงานทุกวัน”
พวกเราหละครับ อยากทำงานกับผู้นำแบบนี้ไหม^^
L : Leading change / ก้าวนำการเปลี่ยนแปลง
2019 ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง ผมได้พบกับชายสูงวัยคนหนึ่ง ผมของท่านเริ่มเป็นสีดอกเลา เต็มไปด้วยความสุขุม พูดน้อยแต่ล้วนมากความหมาย ท่านคือคุณโชติ โสภณพนิช เจ้าของบริษัท กรีนสปอต ผู้ผลิตนมถั่วเหลือง ไวตามิ้ลค์ ให้คนไทยดื่ม สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจท่านมี 2 อย่าง
1.รักการเรียนรู้มาก
รุ่นพี่ที่กรีนสปอตเล่าให้ผมฟังว่าท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือและงานวิจัยเป็นที่สุด เคยถึงกับส่งไฟล์ PDF งานวิจัย มาให้ทีมบริหารอ่านในคืนวันเสาร์ตอนตีสาม!!!
2. เป็นคนทันสมัย
หลักสูตรกระดาษหนึ่งใบของพวกเรามีกิมมิคอย่างหนึ่งคือ สรุปเนื้อหาทั้งหมดให้อยู่ในกระดาษใบเดียว ก่อนท่านจะกลับไปที่บริษัท ผมนำกระดาษแผ่นที่ว่าไปฝากท่าน สิ่งที่ผมเห็นคือชายวัย 77 คนหนึ่งหยิบ iPad Pro ขึ้นมาพร้อมกับถ่ายรูปและเปลี่ยนกระดาษแผ่นนั้น ให้กลายเป็นไฟล์ PDF เพื่อจะได้ไม่ต้องพกกระดาษติดตัว
แม้ไวตามิ้ลค์ดูจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูก Disrupt ยาก แต่ถ้าเจ้าของบริษัทวัยกว่า 70 ยังไม่หยุดเรียนรู้ เพราะเขาเชื่อว่าอะไรที่พาบริษัทมาอยู่ตรงนี้ จะไม่พาองค์กรไปต่อได้
ถ้าผู้นำมีทัศนคติแบบนี้ ก้าวนำการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คิดว่าทัศนคติของพนักงานจะเป็นอย่างไรครับ
E : Eliminate waste / กำจัดความสูญเปล่า
1990 Fujio Mitarai ประธานบริษัท Canon เดินทางไปดูโรงงานผลิตของโตโยต้า แล้วก็กลับมารื้อไลน์การผลิตของตัวเองทันที เขายกเลิกการใช้สายพานที่ยาวกว่า 21,000 ฟุต จาก 47 โรงงานทั่วญี่ปุ่น ปรับคน 60 คนในไลน์การผลิตเครื่องสินค้าเป็น 8 คนต่อ 1 หน่วยการประกอบ แต่เดิมที่เคยใช้ 60 คน คนละ 2 นาที เป็น 8 คน คนละ 15 นาที และค่อย ๆ ลดคนออกจากเซลล์ทีละคน จนกระทั่งเหลือเพียงคนเดียว!
บริษัทเอาเปรียบ? งานหนักขึ้น เงินเท่าเดิม คนที่เอาออกไป คือโดนไล่ออก? ไม่ใช่
พนักงานเหล่านั้นได้รับมอบหมายงานให้
1.มองหาโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่ม
2.ช่วยกันพัฒนาไลน์การผลิตให้ใช้คนน้อยลงแต่ได้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม
สุดท้ายพนักงาน 1 คนสามารถประกอบเครื่องถ่ายเอกสารสีที่มีชิ้นส่วนกว่า 2,700 ชิ้น ได้ด้วยเวลาเพียง 4 ชั่วโมง น้อยกว่าคน 4 คนที่ใช้เวลา 14 ชั่วโมงได้ในที่สุด ต้นทุนการผลิตถูกลง ส่งมอบของได้เร็วขึ้น บริษัทจึงมีกำไรมั่นคง และไม่มีพนักงานถูกเชิญออก
Fujio ประธาน Canon สอนให้เรารู้ว่าผู้นำที่เก่ง ไม่ลดคนทันที แต่มองหาวิธีปรับปรุงกระบวนการทำงานก่อน ผมไม่ได้เป็นคนโลกสวยขนาดไม่เข้าใจว่า ถ้าบริษัทไม่กำไร ปรับลดคนก็จำเป็น แต่หากท่านเป็นผู้นำ วิธีการที่ท่านใช้ตอนนี้เป็นแบบไหนครับ
ลดคนก่อน หรือ ลดความสูญเปล่าก่อน
และคิดว่าแบบไหนได้ใจพนักงานมากกว่ากัน^^
A : Aware / ทำให้ตระหนักคุณค่าของงาน
2008 เดือนกุมภาพันธ์ ผมนั่งลงที่โต๊ะทำงาน หน้าเครียด ไม่พูดจา หลังผลการประชุมด่วนโปรเจกต์ที่ผมรับผิดชอบออกมาว่า ผมต้องแก้งานใหม่ทั้งหมด โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อความผิดพลาด แถมหัวหน้าวิศวกรให้เวลาแก้งานที่ต้องใช้เวลาทำกว่า 1.5 ปี
เพียงแค่ 2 อาทิตย์ เป็นครั้งแรก ๆ ที่ผมคิดลบกับบริษัทและงานที่ตัวเองทำอยู่ ไม่เข้าใจวิธีการตัดสินของบริษัท หัวหน้าวิศวกร คิดว่าตัวเองใจดี เลยถูกกลั่นแกล้ง Hara ซัง พี่เลี้ยงใจดี ผมหยักศก สีดอกเลา วัย 50 ปี ใส่แว่นกรอบเหลี่ยม รักการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ
Hara ซังเห็นผมอาการไม่ดีจึงเข้ามานั่งข้าง ๆ แล้วคุยด้วย
“แป๊ะคุง ช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่ารถยนต์รุ่นที่ออกแบบเนี่ย ปีหนึ่งขายที่ไทยได้กี่คัน”
แม้ผมจะไม่อยากคุยแต่ก็ตอบไปตามมารยาทว่า
“น่าจะประมาณ 70,000 คันครับ”
“แล้วรถรุ่นนี้มีกำหนดขายในไทยตามแผนกี่ปี”
Hara ซัง ยังคงถามต่อไป
“ก็น่าจะ 10 ปีนะครับ”
จิตคิดลบของผมเวลานั้นบอกผมว่า เขาคงกะจะให้ผมได้เห็นว่ารถยนต์มันจะขายได้เยอะ
แป๊ะคุงก็จะได้โบนัสเยอะ ๆ ไง สู้หน่อยนะ
แล้วประโยคต่อมาก็ได้เปลี่ยนมุมมอง
การทำงานของผมไปตลอดกาล
==================
“งานของแป๊ะคุงนี่ดีจังเลยนะ” Hara ซังพูดแล้วยิ้มเบา ๆ
“เพราะมันช่วยให้คนไทยตั้ง 700,000 ครอบครัวมีรอยยิ้มไง”
==================
ผมอาจจะเป็นคนที่โลกสวย แพ้คำพูดอะไรพวกนี้ เพราะทันทีที่ Hara ซังพูดจบ ภาพในหัวสีดำของผมก็หายไป แทนที่ด้วยภาพของตัวเองสมัยเด็ก ๆ ใช้รถยนต์รุ่นคล้าย ๆ กัน ไปเที่ยวกับพ่อแม่อย่างมีความสุข จำได้แม่นเลยว่าวันไหนพ่อกับแม่ขายของได้เยอะ วันนั้นบ้านเราจะหุงข้าวไปที่สนามหลวง ปูเสื่อและสั่งกับข้าวมานั่งกินกัน
สิ่งที่ Hara ซังสอนผมนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะมันทำให้ผมตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานอย่างแท้จริง พอเลิกคิดลบ ตั้งใจทำงาน และยิ่งได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุกฝ่าย งานที่ดูเป็นไปไม่ได้ ก็เสร็จเรียบร้อย และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นรถยนต์รุ่นนี้บนถนน
===============
เราไม่ได้ทำงานแค่เพื่อแก้ปัญหาและรับเงินเดือน แต่งานของเราทุกคนส่วนใหญ่ล้วนเชื่อมโยงกับการสร้างคุณค่าและความสุขให้ใครบางคน
================
ผู้นำอาจไม่ต้องสื่อสารเยอะ แต่พูดแล้วสร้างการตระหนักรู้และกำลังใจในการทำงานได้ แค่นั้นก็พอ คำสอนของ Hara ซังชวนให้นึกถึงคำพูดของชายคนหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นยกให้เป็นตำนาน
Kazuo Inamori
เจ้าของบริษัท Kyocera, KDDI
“วิธีที่ดีที่สุดในการจุดไฟให้ตัวเองคือรักในงานที่ทำ”
คุณล่ะครับ รักงานที่ตัวเองทำอยู่แค่ไหน^^
D : Develop people / สร้างคน
สมัยกลับจากญี่ปุ่นใหม่ ๆ ผมได้รับโอกาสเป็นตัวแทนบริษัทนำเสนอผลงานให้กรรมการบริหารระดับสูงของ Toyota Motor Corporation ที่มาเยี่ยมชม คนเหล่านี้ให้เวลานำเสนอเพียง 3 นาที เนื้อหาหรือรูปแบบการนำเสนอจึงต้องเป๊ะมาก ผมเลยต้องซ้อมและแก้เอกสารหลายรอบโดยที่งานหลักก็ยังต้องทำ
ครั้งหนึ่งขณะซ้อม ความเครียดสะสมทำให้ผมสติแตก เดินหนีไปดื้อ ๆ Asano ซัง General Manager ในสมัยนั้น เป็นคนน่ารักมาก เรียกให้เพื่อน ๆ ในแผนก มาให้กำลังใจและไม่ต่อว่าผมที่แสดงอาการไม่เหมาะสมสักคำ
เขาเคยพูดให้ผมฟังว่าหน้าที่ของเขาคือ “การอดทน“ อดทนให้ลูกทีมของเขาได้พัฒนาตัวเอง ภายใต้แรงกดดันรอบด้าน สิ่งหนึ่งที่ผมชอบบริษัทโตโยต้ามาก ที่โตโยต้า คนไม่ใช่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่คือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามการดูแล ดั่งคำพูดประจำบริษัทเกี่ยวกับคนของ
Eiji Toyoda ประธาน Toyota Motor Corporation คนที่ 5
“สร้างคนก่อนสร้างผลิตภัณฑ์”
สำหรับผม ผู้นำ พยายามสร้างคนให้เก่งกาจ และให้คนเก่งเหล่านั้นไปสร้างผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าอีกที
E : Empathy / เอาใจใส่
เดี๋ยวนี้เวลาไปต่างจังหวัด เมืองรอง ถนนมีรถไม่เยอะเท่าไหร่
อยากเติมน้ำมัน นึกถึงปั๊มอะไรครับ? สำหรับผมปั๊มน้ำมัน PT คือคำตอบ
PTG Energy ปั๊มสีเขียว ๆ บริหารโดยคุณ พิทักษ์ รัชกิจประการ ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จากการที่ได้ไปบรรยายให้ PTG บ่อย วัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้ PTG มาได้ไกลขนาดนี้ คือ “Empathy ความเอาใจใส่”
หนังสือ “คนเล็กเวทียักษ์” ที่คุณพิทักษ์เขียนเอง เคยพูดถึงธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัท ที่ยังคงดำรงอยู่ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง สมัยทำงานเป็นผู้จัดการสาขา มีพนักงานหลักร้อย คุณพิทักษ์จะตื่นแต่เช้าไปจ่ายตลาดด้วยตัวเอง หาซื้อน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋มาให้พนักงานทานกับมือ ปัจจุบันย้ายสถานที่ทำงานมาอยู่ CW Tower แล้ว ก็ยังคงเปิดร้านอาหารพันธุ์ไทยให้พนักงานได้ไปร่วมทานข้าวด้วย
ความเอาใจใส่นี้ตกทอดมาถึงการให้บริการในปั๊มน้ำมัน ปกติเติมน้ำมันเต็มถัง ของแถมที่ได้มักจะเป็น น้ำดื่ม 1 ลิตรใช่ไหมครับ แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ PT คิดต่าง และสร้างความประทับใจให้ผมมาก พวกเขาแจกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครับ น้ำมันเต็มถังแล้วอาหารก็ต้องเต็มท้องด้วย
ผมเลยเรียนรู้ว่าคำว่า “เอาใจใส่” มันย่อมาจาก เอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากเป็นผู้นำที่ดี มาเอาใจใส่ลูกทีมและลูกค้ากันครับ
R : Representative / เป็นแบบอย่าง
เสือ ดื่ม สิงห์
“พี่เสือ” เป็นผู้บริหารรุ่นใหญ่ เสียงดัง ตรงไปตรงมา เดินไปตรงไหน เสียงของแกจะเด่นชัด รู้ทันทีว่า “พี่เสือมา” ผมมีโอกาสได้ไปบรรยายให้บุญรอดบริวเวอรี่ 3-4 ครั้ง ครั้งแรกที่ไป ได้เจอสิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่ง ปกติ วิทยากรเวลาไปบรรยายที่ไหนก็มักจะได้รับการเสิร์ฟน้ำเป็นขวด ๆ พร้อมแก้วและหลอดเป็นอย่างดี แต่ที่บุญรอด ผู้จำหน่ายน้ำสิงห์ อันเลื่องชื่อ กลับมีให้แต่ขวด ไร้แก้วและหลอดแต่อย่างใด ตอนแรกผมคิดว่า “อาจจะแค่ลืม” แต่พอพักเบรก เหตุการณ์ก็ยิ่งชัดเจน มีแต่ขวด ไม่มีแก้วและหลอดเช่นเดิม ผมถามพี่เสือได้คำตอบว่า
เราอยากให้พนักงานทุกคนมั่นใจว่าปากขวดของน้ำดื่มสิงห์ สะอาดไม่แพ้แก้ว ดื่มได้เลย
พูดจบ พี่เสือก็หยิบขวดสิงห์ขึ้นมาดื่มโชว์
การกระทำสำคัญกว่าคำพูด
เห็นด้วยไหมครับ
=============
ตอนที่เข้าไปบรรยายที่บุญรอด
ผมชอบปณิธานของพระยาภิรมย์ภักดี ผู้ก่อตั้งบุญรอดบริวเวอรี่ ที่ว่า
“ทุกคนควรมีส่วนร่วม
ในการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง“
ช่วงน้ำท่วมใหญ่ วิกฤตใด ๆ ก็ตาม เราจะได้เห็นการสนับสนุนและโครงการช่วยเหลือดี ๆ จากองค์กรนี้เสมอ การกระทำสำคัญกว่าคำพูด บุญรอดบริวเวอรี่และพี่เสือผู้ดื่มสิงห์จากบุญรอดสอนผม