5 ข้อดีของการเปลี่ยนตัวเองจากนักอ่านเป็นนักเขียน
ผมเป็นหนึ่งคนที่หลงรักการอ่านหนังสือมาก วันหยุดที่ต้องออกไปข้างนอกทีไรก็มักมีหนังสือติดมือไปสักเล่ม การได้นั่งทานกาแฟ ฟังเพลงบรรเลงเบา ๆ เคล้ากับหนังสือนั้น เป็นสิ่งที่หาอะไรมาทดแทนได้ยากจริง ๆ จะมีก็เพียงสิ่งเดียวที่ผมคิดว่ามันดีพอ ๆ กันหรืออาจจะดีกว่าในองค์รวมนั่นก็คือ
“การเขียนหนังสือ”
ทำไมผมถึงคิดว่ามันดี มาลองอ่านไปด้วยกันครับ
5 ข้อดีต่อไปนี้จะทำให้คุณหายสงสัย
1. อ่านหนังสือได้ลึกกว่าแค่เนื้อหา
ก่อนอายุ 30 กิจกรรมหลักของผมก่อนกลับที่พักคือแวะร้านหนังสือเพื่อมองหาเล่มใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เปิดอ่านคร่าว ๆ ว่ามีบทไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์ ก่อนที่เช้าวันรุ่งขึ้นจะลงมืออ่านอย่างจริงจังระหว่างนั่งรถบริษัท ซึ่งจะใช้เวลาราว 45 นาที
ช่วงวัยนั้น ผมอ่านหนังสือไปร่วม 100 เล่ม ที่จำได้แม่นเพราะลำบากพอดูเวลาที่จะย้ายที่พักสักครั้ง ต้องขนไปขนมา หนักเอาเรื่อง สุดท้ายเลยต้องตัดใจพาน้องไปส่งต่อที่จตุจักร กลับมานั่งนึกตอนนี้ ผ่านไป 10 กว่าปี ผมคิดว่ามีไม่ถึง 20 เล่มที่ผมยังจำเนื้อหาได้แม่นยำ
และแน่นอนว่าไม่มีสักเล่มที่ผมจำโครงสร้างได้หรือแม้แต่จะเอะใจสักนิดว่า เพราะอะไรนักเขียนถึงเขียนบทนี้ขึ้นมา วัตถุประสงค์ของเนื้อหาส่วนนี้คืออะไร เพื่อให้เข้าใจ หรือเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น หรือว่าเพียงเพื่อให้ส่งต่อไปยังบทต่อ ๆ ไปได้โดยไม่สะดุด
ถ้าสิ่งที่ผมเขียน หลายท่านรู้สึกว่า “เออจริง” ก็เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ครับ เล่มไหนที่ผมอ่านในฐานะนักอ่าน ผมก็จะอ่านเอาประโยชน์จากเนื้อหาเหมือนชิมรสชาติผลไม้อย่างเดียวเหมือนกัน แต่ถ้าต้องอ่านในฐานะผู้เขียน ความสนใจของผมจะแบ่งไปให้วิธีออกแบบสารบัญ ปกหน้าและหลัง คำโปรย อาจจะรวมไปถึงคำนิยมด้วยเลย เหมือนกับดูพันธุ์ไม้ โครงสร้างกิ่งใบของมันเพิ่มไปอีก
วิธีนี้จะทำให้ผมเหมือนได้ความสนุกจากการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น อาจจะคล้าย ๆ กับคนรีวิวหนังที่ไม่ได้ดูแค่เบื้องหน้าอย่างเดียว แต่ดูไปถึงเบื้องหลัง วิธีถ่ายทำหรือแม้กระทั่งที่มาของหนังด้วย
และเมื่อเราอ่านแบบนี้ มันย่อมทำให้เราสามารถนำวิธีคิด โครงสร้างการเขียน วิธีเขียนไปใช้งานกับงานของตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งเขียนหนังสือ บทความหรือรายงานก็ได้ ซึ่งประโยชน์ที่ได้ตามมาก็คือข้อถัดไป
2. จัดระเบียบความคิดดีขึ้น
อาจารย์ Kabasawa Shion จิตแพทย์นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น เขียนไว้ในหนังสือ The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของว่า ในการเรียนรู้ เราไม่ควรที่จะรับแต่ Input เพียงอย่างเดียว แต่ควรมี Output ด้วย (โดยสัดส่วนที่แนะนำคือ In : Out = 3:7)
สำหรับผม วิธีออก Output ในการอ่านหนังสือที่ดีที่สุด จึงเป็นการเขียนหนังสือหรือนำความคิดจากสิ่งที่ได้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม มาร้อยเรียงให้ผ่านประสบการณ์และการเล่าเรื่องของตัวผมเอง
สมัยที่ผมอ่านหนังสืออย่างเดียว น้อยครั้งที่จะจำเนื้อหาได้ดี แถมยังไม่ช่วยให้ผมเป็นคนที่เขียนหรือเรียบเรียงการนำเสนองานได้ดี ต่างกับในปัจจุบันที่ผมสามารถเขียนคอนเทนต์หลาย ๆ อย่าง เขียนบทความที่ยาวกว่า 1,800 คำอย่างบทความนี้ได้ในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงโดยแทบไม่มีติดขัด
ผมไม่ใช่คนที่มี IQ มากกว่าค่าเฉลี่ย ไม่ได้เรียนจบคณะอักษรศาสตร์หรือเป็นนักข่าวแต่อย่างใด ผมเพียงแค่จดจำโครงสร้างการเขียนที่คิดว่าดีจากหนังสือเล่มต่าง ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาที่ตัวเองจะเขียน คล้าย ๆ กับการมีสูตรสำเร็จในการจัดระเบียบความคิดนั่นแหละครับ ซึ่งคุณก็ทำได้
อย่างเช่นโครงสร้างของบทความนี้ ผมก็เอามาจากนักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังอีกท่านอย่าง Mentalist Daigo ถ้าท่านไหนมีหนังสือของเขา ลองไปเปิดอ่านสารบัญหลาย ๆ เล่มดู จะพบว่าเขามักใช้ตัวเลขในการจัดระเบียบความคิด เช่น กฎ 3 ข้อ… 5 เทคนิค… 7 เครื่องยนต์…
การเล่าเรื่องและอธิบายให้เข้าใจง่ายเป็นอีกทักษะของผู้นำ ในฐานะวิทยากรที่ผมบรรยายให้องค์กรใหญ่ ๆ หัวข้อหนึ่งมักได้รับเชิญไปจัดอบรมคือ Storytelling with data
ทำไมแค่อธิบาย Data ยังไม่พอ ต้องมี Storytelling ด้วย คำอธิบายของผมคือ เราจำนิทานกระต่ายกับเต่าได้ในครั้งเดียว แถมจำได้ไม่ลืม ส่วน Data ยาก ๆ นั้น แค่ไม่ทันจบการนำเสนอก็ลืมหมดแล้ว ดังนั้นการเล่าเรื่องเก่งจึงสำคัญไม่แพ้การรวบรวมข้อมูล
คำถามคือเราจะไปเรียนเล่าเรื่องได้จากไหน คำตอบแบบที่เดาได้ก็คือแกะรอยหนังสือและฝึกเขียนหนังสือนั่นแหละครับ
คุณอาจจะเคยเจอกับหนังสือบางเล่มที่วางไม่ลง ทั้งที่เป็นหนังสือเนื้อหาหนัก ๆ อย่างการลงทุนในหุ้นที่เต็มไปด้วยคำศัพท์แปลกใหม่ เข้าใจยากสุด ๆ ยกตัวอย่างหนังสือซีรีส์ของคุณ Tactschool ที่เป็นการใช้ตัวละครเล่าเรื่องแบบหนังจีนกำลังภายใน ชื่อ วิธีอ่านงบการเงินสำหรับลงทุนในหุ้น
หรือหนังสือเล่าประสบการณ์วิ่งมาราธอนครั้งแรกอย่าง Homo Finishers ของคุณนิ้วกลม ที่ทำผมออกวิ่ง Half Marathon ได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของหนังสือทั้งสองเล่มนี้มาจากความเป็นนักเล่าเรื่องขั้นเซียนของทั้งคู่
ผมเองก็อยากเขียนหนังสือให้สนุกและเข้าใจง่ายเหมือนกัน จึงมักพยายามให้หนังสือตัวเองใช้ภาพประกอบ มีเรื่องเล่าผสมอยู่ตลอดเล่ม อย่าง Systematic problem solving วิธีแก้ปัญหายากให้ง่ายที่คนเก่ง (องค์กรระดับโลก) ใช้ นอกจากจะมีแกนเรื่องหลักเป็นทักษะแก้ปัญหาแล้ว ตัวละครในเรื่องก็ยังมีการเดินทางผจญภัยในเกาะแห่งปัญญาด้วย
โดยสรุป การเป็นนักเขียนช่วยเพิ่มทักษะการเล่าเรื่องและอธิบายให้เข้าใจง่ายซึ่งใช้ได้กับการทำงาน 100% ครับ
4. มีรายได้เพิ่มมาซื้อหนังสือที่ชอบ
จะดีแค่ไหนถ้าทุก ๆ เดือนจะมีเงินจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะทำให้คุณสามารถนำมาซื้อหนังสือที่ชอบมาอ่านได้โดยไม่ต้องแตะต้องเงินเดือนหรือรายได้หลัก การเป็นนักเขียนทำให้คุณได้สิ่งนั้นครับ
ผมลองนับเล่น ๆ ว่าหลังเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ฝั่งนักเขียน มีรายได้จากการขายหนังสือและค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่ หลังนับเสร็จก็แอบตกใจไม่น้อย เพราะยอดรวมของมันพอที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าราคาเฉียดล้านได้สักคันเลยทีเดียว น่าเสียดายที่ไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด 555
โดยปกตินักเขียนจะได้ค่าลิขสิทธิ์จากงานเขียน 7-15% ของราคาปก เช่น ถ้าหนังสือราคา 300 บาทก็จะได้ 21-45 บาทต่อเล่ม ตีกลม ๆ ว่า 30 บาทต่อเล่ม ถ้าขายได้สัก 3,000 เล่ม ก็ 90,000 บาท เหมือนได้โบนัสมาใช้ซื้อหนังสือที่ชอบอ่านเพิ่มได้แบบไม่อั้นกันเลย (เขียน 10 เล่มก็ได้รถยนต์คันหนึ่งจริง ๆ)
นักเขียนที่ผมเคยสัมภาษณ์อย่าง พี่คิดมาก (Kidmakk) ซึ่งก็ยังทำงานประจำอยู่ ก็บอกผมว่ารายได้ส่วนนี้ของเขาเพียงพอจะผ่อนคอนโด รถยนต์ต่าง ๆ เลย (คิดคร่าว ๆ ก็น่าจะหลายหมื่นบาทต่อเดือน)
แน่นอนว่าในเมืองไทย ผมคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าอาชีพนักเขียนอย่างเดียวจะพอเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวได้เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือฝั่งตะวันตกที่มียอดขายปกละหลักล้านเล่ม แต่ถ้าคิดเสียว่าเรามีรายได้เพิ่มมากพอจะนำกลับมาซื้อหนังสือใหม่ ๆ อ่านได้ไม่อั้น และอาจจะมีโอกาสดี ๆ เข้ามาอีกจากการเป็นที่รู้จักผ่านหนังสือ แค่นั้นก็เป็นแรงจูงใจมากพอแล้วว่าไหมครับ
5. มีโอกาสได้สนิทกับนักเขียนในดวงใจ
ปี 2018 หนังสือ เปลี่ยนยากเป็นง่ายด้วยการคิดบนกระดาษหนึ่งใบที่คนญี่ปุ่นใช้ พาผมและเซนเซเล็กขึ้นเวทีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 พร้อมกับชายคนหนึ่งที่ผมคิดว่าชาตินี้ถ้าผมไม่ได้เขียนหนังสือ คงไม่มีทางได้นั่งข้าง ๆ เขาแน่นอน
เพราะเขาคือ พี่พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ ดารา นักธุรกิจดังระดับประเทศที่คนในยุคดูทีวีต้องรู้จัก
พี่พอล กำลังเขียนหนังสือชื่อ The One% เป็นหนังสือขายดีมาก ๆ อีกเล่มหนึ่งของเขาถัดจากเหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร เราเลยได้ขึ้นเวทีในนามของสำนักพิมพ์พร้อมกัน
การได้เป็นนักเขียนในสังกัดสำนักพิมพ์ดัง ๆ คุณจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับนักเขียนในดวงใจมากมาย หนังสือยังเป็นเหมือนตั๋ว V.I.P ที่ทำให้ผมสามารถทักหรือติดต่อนักเขียนชื่อดังหลายท่านเพื่อเชิญมาสัมภาษณ์ในเพจ สรุปให้ อย่าง อาจารย์เกด ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้เขียนหนังสือ Rinen ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผู้แต่ง The Lost Skill เป็นต้น
และที่ผมคิดว่ายิ่งกว่าโชคดีคือไอดอลด้านการเขียนและการใช้ชีวิตอย่าง พี่บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ และ The Money Coach พี่หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ให้เกียรติเขียนคำนิยมในหนังสือให้ การที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่คุณเคารพและศรัทธานั้นเป็นความสุขและความภูมิใจในชีวิตที่หาอะไรมาเทียบได้ยากยิ่งจริง ๆ ครับ ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าผมยังคงเป็นเพียงนักอ่านที่เสพงานของไอดอลอย่างเดียว
ปีที่แล้วในงาน สรุปให้ Meet & Greet ผมบอกกับเหล่านักสรุปหนังสือกว่า 30 ท่านว่า ถ้าคุณอ่านหนังสือมามากพอ นำคำบางคำ แง่คิดบางอย่าง เนื้อหาบางบท หรืออาจจะแทบทุกอย่างในหนังสือบางเล่มไปทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นแล้ว คุณก็คือผู้อ่านที่ดี และบางทีมันก็ถึงเวลาแล้วที่คุณอาจจะต้องเริ่มคิดถึงการส่งต่อให้ใครบางคนที่ต้องการมันในรูปแบบที่คุณคือผู้เขียน
เพราะถ้าความรู้ในตัวคุณเปลี่ยนชีวิตคุณได้ มันก็น่าจะช่วยใครสักคนได้เช่นกัน คิดเหมือนกันไหม ลองมาเป็นนักเขียนกันดูครับ มันดีจริง ๆ นะ