สรุปขั้นตอนเขียนหนังสือ 1 เล่ม จากไอเดียสู่หน้าร้าน

กว่าจะเป็นหนังสือ 1 เล่มบนชั้นร้านหนังสือ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
ถ้าหนังสือคือผลไม้พร้อมเสิร์ฟ หยิบเข้าปากก็พร้อมลิ้มรส เคยสงสัยไหมว่าหน้าตาต้นของมันเป็นอย่างไร เลี้ยงดูยังไงให้โต ใครบ้างที่อยู่เบื้องหลัง
บทความนี้จะฉายภาพใหญ่ให้เห็นขั้นตอนและตัวละครหลังฉากกัน
5 ขั้นตอนเพื่อทำให้สุดยอดไอเดียกลายเป็นหนังสือ Bestseller
จะเป็นหนังสือได้ มี 5 ขั้นตอนด้วยกัน สรุปสิ่งที่ต้องทำและคนที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

Step 1 Drive : ค้นหาไอเดียและแรงขับ
“A book is a souvenir of an idea” Seth Godin
ถ้าหนังสือคือผลไม้ ไอเดียก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยังต้องการการเลี้ยงดูให้โต หน้าที่ของนักเขียนมี 2 อย่างคือค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่ว่ากับลงมือปลูกและเลี้ยงดูจนได้ผล
ไอเดียจะมาจากไหน รู้ได้อย่างไรว่าไอเดียนั้นจะดี? ในการเริ่มต้นเขียนหนังสือสักเล่ม ส่วนตัวของผมเองมองสองมุม คือควรเป็นเรื่องที่มีคนอยากอ่านและเราอยากเขียน

การที่มีคนอยากอ่านทำให้ขายได้ ส่วนอยากเขียนทำให้คุณสนุกและมีแรงขับเคลื่อนในการเขียนต้นฉบับ เรื่องนี้บรรณาธิการช่วยเราได้มาก
ยกตัวอย่าง หนังสือเล่มแรกของผม Toyota Minds คิดระดับโลกคุณก็ทำได้ ก็เกิดมาจากแนวทางนี้เช่นกัน ตอนแรกที่เข้าไปพูดคุย ผมอยากเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและรักษาสมดุลชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกำลังอิน
แต่พอบรรณาธิการถามว่าผมมีความรู้ความเชี่ยวชาญพอที่จะเขียนเรื่องเลี้ยงลูกได้ไหม เพราะอะไรคนอ่านถึงอยากจะซื้อหนังสือเราเมื่อเทียบกับคุณหมอเด็ก คุณแม่ตัวจริงก็ทำให้ผมรู้ว่าไอเดียนี้อาจจะยังไม่เหมาะกับผม
แล้วสักพักบรรณาธิการก็พูดว่า
“แต่ถ้าคุณแป๊ะจะเขียนถึงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพในแบบโตโยต้า ผมอยากอ่านนะ” ผมก็ปิ๊งแวบทันที
ต่อให้มันเป็นไอเดียที่ใช่ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไอเดียที่ดีพอหรือยัง
สำหรับหนังสือแนวนิยาย วรรณกรรม Stephen King นักเขียนชื่อดังเขียนไว้ในหนังสือ On Writing ของเขาว่า
“การค้นหาไอเดียทำหนังสือสักเล่มเหมือนกับค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ใต้ดิน นักเขียนคือนักสำรวจ มีหน้าที่ขุดซากนั้นอย่างปราณีตที่สุด โดยไม่สนว่าซากที่กำลังขุดนั้นเล็ก ใหญ่ สมบูรณ์แค่ไหน”
สำหรับหนังสือ How to วิธีที่ผมชอบใช้คือลองดูว่าในตลาดหนังสือตอนนี้มีคนเขียนหนังสือแนวที่เราอยากเขียนติดอันดับขายดีอยู่ไหม ถ้ามีก็มั่นใจได้ว่า ถ้าทำได้ดีกว่าหนังสือเล่มนั้นก็ต้องมีคนอยากอ่านแน่นอน
Step 2 Write : เขียนต้นฉบับ
อย่างที่เคยพูดไว้ในบทความ “5 เทคนิคเขียนต้นฉบับให้จบ ไม่เลิกกลางทาง” การเขียนต้นฉบับคือการวิ่งมาราธอน ต้องมีการฝึกซ้อม วางแผน สิ่งสำคัญที่ผมอยากเน้นย้ำคือการหาเวลาในการเขียนให้ได้ เพราะแม้ไอเดียจะดี แต่ไม่มีเวลาเขียนได้สม่ำเสมอ ก็ยากที่จะได้ต้นฉบับออกมา
ส่วนตัวผมใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเริ่มงานบรรยายในการเขียนเพราะควบคุมได้ดีที่สุด งานส่วนนี้จะเป็นงานที่นักเขียนเป็นแกนหลัก บรรณาธิการมักจะให้คำแนะนำเล็กน้อยเท่านั้น

ตัวอย่างการกำหนดตารางสำหรับเขียนหนังสือให้ได้ตามแผน

ตัวอย่างต้นฉบับจริงหนังสือไซส์ A5
สมมุติว่าเราต้องการเขียนหนังสือให้ได้ 240 หน้า และทำได้ 4-6 หน้าต่อวัน เท่ากับต้องใช้อย่างน้อย 40-60 วันที่ลงมือเขียน ถ้าแรงจูงใจของเราไม่มากพอก็อาจเลิกกลางทางได้ แรงขับ ความรู้สึกอยากเขียนจึงสำคัญมาก อย่าลืมตอบตัวเองให้ได้ว่าเขียนมันไปทำไม
Step 3 Edit : ตรวจทาน แก้ไข ออกแบบรูปเล่ม
แม้ต้นฉบับจะเสร็จเรียบร้อย งานของนักเขียนยังไม่จบ เรามีส่วนที่จะต้องทำงานกับหลากหลายคนดังนี้
บรรณาธิการที่เป็นแกนหลัก ในขั้นตอนนี้จะอ่านต้นฉบับของเราอย่างละเอียดอีกครั้งและให้คำแนะนำในการปรับปรุง ตรงนี้ให้ทำใจเผื่อไว้เลยว่ามีโอกาสสูงมากที่ต้นฉบับเราจะถูกปรับเนื้อหา ตามประสบการณ์ของผม 20-70% ของต้นฉบับก็มี
งานของบรรณาธิการคือการเปลี่ยนเนื้อหาของเราให้กลายเป็นรูปแบบแบบดิจิทัล โดยทำงานตั้งแต่หากราฟิกมาออกแบบรูปเล่ม ออกแบบปก จัดหน้า พิสูจน์อักษร รวมไปถึงงานการขอ ISBN (เลขที่ของหนังสือ เหมือน Bar code สินค้า)
ขั้นตอนนี้นักเขียนจะตรวจความถูกต้องของเนื้อหาหลังจัดรูปเล่มอีกครั้ง ฟีดแบ็กกราฟิกในเล่มและปกหนังสือของบรรณาธิการ คำแนะนำคือลองหาตัวอย่างการจัดรูปเล่มหนังสือที่ชอบแล้วเสนอทางบรรณาธิการให้เป็น Reference ล่วงหน้า คุณจะได้หนังสือที่ตรงใจง่ายขึ้น

ตัวอย่างปกหนังสือ เปลี่ยนยากเป็นง่ายด้วยการคิดบนกระดาษหนึ่งใบฯ

ตัวอย่างหน้าปกหนังสือ ทำน้อย ได้มาก ไม่ยาก วิธีวางแผนงานให้สำเร็จตั้งแต่เริ่ม

ตัวอย่าง ต้นฉบับจากนักเขียน เทียบกับการจัดรูปเล่มในหนังสือ

ตัวอย่าง ต้นฉบับจากนักเขียน เทียบกับการจัดรูปเล่มในหนังสือ


ตัวอย่างงานพิสูจน์อักษร
(มีเจ้าหน้าที่ดูแลความถูกต้องของเนื้อหาหลังพิสูจน์อักษร)
ซึ่ง Output สุดท้ายของขั้นตอนนี้คือไฟล์ดิจิทัลของหนังสือที่สามารถไปวางขายเป็น E-Book หรือนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนั่นเอง
Step 4 Publish : พิมพ์เป็นหนังสือ
หลังจากที่ได้ไฟล์ดิจิทัลที่สามารถตีพิมพ์ได้ สำนักพิมพ์ (ผู้ผลิตไฟล์หนังสือดิจิทัล) ก็จะส่งต่อให้โรงพิมพ์ (ผู้ผลิตหนังสือเล่ม) นำไปผลิตตามจำนวนที่เหมาะสม ต้นทุนการพิมพ์นั้นขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น กระดาษ จำนวนสีที่ใช้พิมพ์ในเล่ม ความหนาหนังสือ หน้าปก และปริมาณการพิมพ์
บางกรณีก่อนจะพิมพ์จำนวนมาก ทางโรงพิมพ์อาจจะส่ง Mock Up มาให้ดูก่อนว่ามีอะไรที่ไม่ตรงกับที่คิดไหม เหตุผลเพราะหลายครั้งที่ E-book ต่างกับเล่มจริงเช่น สี ขนาดภาพและตัวอักษร จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่นักเขียนจะได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียด

ตัวอย่างของหนังสือ Mock Up และหน้าหนังสือจริงในเล่ม
หลังจากนั้นโรงพิมพ์ก็จะทยอยพิมพ์หนังสือออกมา ก่อนจะเข้าเล่มและแพ็กให้เป็นชุด พร้อมส่งต่อไปยังจุดจัดจำหน่ายหรือคลังสินค้าของร้านหนังสือ

ตัวอย่างของ แพ็กหนังสือที่ออกจากโรงพิมพ์
ถ้าอยากเห็นภาพ แนะนำให้ดูคลิปวิดีโอ “หนังสือ 1 เล่มทำยังไง? ไปดูทุกขั้นตอน!!” ของคุณ Bie The Ska กันครับ (เป็นโรงพิมพ์เดียวกับหนังสือเล่มล่าสุดของผมด้วย ^^)
หนังสือ 1 เล่ม ทำยังไง? ไปดูทุกขั้นตอน !! (หนังสือเล่มแรกในชีวิต)
Step 5 PR : วางจำหน่าย ประชาสัมพันธ์
ขั้นตอนสุดท้าย สำนักพิมพ์และนักเขียนจะต้องทำงานร่วมกันหลายอย่างเพื่อให้เกิดยอดขาย กิจกรรมทางการตลาดจำนวนมาก ทั้ง Offline เช่น การจัดวางที่หน้าร้านให้มองเห็นง่าย การขึ้นเวทีงานสัปดาห์หนังสือ และ Online เช่น การรีวิวหนังสือ การทำ Value Content ที่เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือเป็นต้น เคล็ดลับของการทำให้หนังสือขายดีนั้นคือต้องทำให้คนอยากซื้อหนังสือจำนวนมากพร้อม ๆ กัน

ตัวอย่างการขึ้นงานเวทีสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

กิจกรรมแนะนำหนังสือที่บูธร้านหนังสือ Se-ed

ตัวอย่างการจัดวางและรีวิวหนังสือที่หน้าร้านหนังสือ

ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ตัวอย่างการให้ความรู้ในหนังสือผ่านพื้นที่สื่อต่าง ๆ

ตัวอย่างการออกสื่อหนังสือพิมพ์
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เห็นขั้นตอนการทำงานและสิ่งที่นักเขียนควรมีส่วนร่วมนะครับ