คิดอย่าง “ประธาน” โตโยต้า เรียนรู้วิธีคิดของบริษัทระดับโลก
2019 Toyota Motor Corporation Japan คือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นที่มีมูลค่าสูงสุดเป็น Top 10 Most regarded brand ของโลกจากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2018 มียอดขายรถยนต์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างยาวนาน
ความรู้หลาย ๆ อย่างของโตโยต้าได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์และถูกนำไปเผยแพร่ใช้งานกันทั้งโลกอย่างระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS), One Page Summary (A3 report), วิถีโตโยต้า (Toyota Way) ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่พวกเขามาได้ไกลขนาดนี้เพราะมีผู้นำที่ดี
อยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับประธานผู้นำเรือที่ชื่อโตโยต้า ฝ่าสมรภูมิและวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า
พวกเขามีวิธีคิดอย่างไรถึงทำให้บริษัทอันยิ่งใหญ่นี้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผมสรุปให้ครับ
หมายเหตุ ผมแกะและตามรอยข้อมูลมาประติดประต่อกันเอง
รวมถึงใส่ความคิดเห็นของผมเองลงไปด้วยนะครับ ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้
สำหรับคนที่อยากเอาไปใช้งานต่อ ขอให้พิจารณาความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้งครับ
1) 1937-1941: Risaburo Toyoda, founder’s brother-in-law
เวลา Search YouTube หรือ Google ว่าใครคือผู้ก่อตั้งโตโยต้า ชื่อที่มักจะขึ้นมา คือ Kiichiro Toyoda ถามว่าถูกไหม ก็ถูก แต่ที่ไม่ถูกคือ Kiichiro Toyoda ไม่ใช่ประธานคนแรกของโตโยต้า คน ๆ นั้นชื่อ Risaburo Toyoda ในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยมีใครจดจำคุณ Risaburo ในฐานะประธานคนแรก อาจจะด้วยความที่การดำรงตำแหน่งของท่านนั้นเสมือนรอเวลาให้ประธานตัวจริงอย่างคุณ Kiichiro รอเวลาสุกงอมก็เป็นได้
แต่เดิมคุณ Risaburo ไม่ได้นามสกุล Toyoda แต่ท่านแต่งงานกับน้องสาวคุณ Kiichiro แล้วมาช่วยบริหารงานให้กับ Toyoda Automatic Loom ที่ทำธุรกิจทอผ้าของตระกูล และมีศักดิ์เป็นพี่ชายทางกฎหมายของคุณ Kiichiro
ในช่วงที่เริ่มก่อตั้งนั้น คุณ Risaburo ดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าใน Toyoda Boshoku และเป็นคนบอกให้คุณ Kiichiro ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปในธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนารถยนต์ที่คุณ Kiichiro เป็นหัวเรือ แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นหน่วยงานที่อยู่ในธุรกิจทอผ้านั่นเองครับ
ด้วยเหตุผลทางการเงินและความมั่นคง ต่อมาเมื่อบริษัทตัดสินใจแยกธุรกิจรถยนต์ออกมาเป็นบริษัท คุณ Risaburo ก็ยังคงช่วยประคองบริษัทให้ (ผมเข้าใจว่าคุณ Kiichiro มุ่งมั่นกับการสร้างรถมากกว่าบริหารธุรกิจในช่วงแรก)
แม้จะไม่มีบันทึกใด ๆ จากคุณ Risaburo (ที่ผมหาเจอ 555) แต่ผมเชื่อว่าบทเรียนที่ได้จากการคิดของท่านคือ
“อย่าเสี่ยงจนเกินไปในการเริ่มอะไรใหม่ ๆ แม้สิ่งนั้นจะมีศักยภาพสูงแค่ไหนก็ตาม”
2) 1941-1950: Kiichiro Toyoda, founder
สาเหตุที่คุณ Kiichiro ไม่ได้ทำหน้าที่ประธานเอง นอกจากเรื่องประสบการณ์แล้ว ก็คงเป็นความต้องการที่จะเอาเวลาไปทุ่มให้กับการพัฒนาส่วนที่ผลิตได้ยากที่สุดในสมัยนั้น เครื่องยนต์ ปัญหาที่พวกเขาเจอคือการหล่อชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่มักจะพบรอยร้าวเสมอไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนวิธี ใช้ความรู้ที่มีเท่าไหร่ ลำบากขนาดที่ว่าต้องกินนอนกันในโรงหล่อกันเลยทีเดียว (อยากรู้รายละเอียดความยากลำบาก แนะนำให้หาซีรีส์ Spirit หรือ Leaders มาชมครับ)
คุณ Kiichiro ใช้เวลาอยู่กับเครื่องยนต์เป็นปี ๆ หมดเงินไปเยอะ ทำเครื่องยนต์ต้นแบบเป็นร้อย ๆ เทแบบอยู่ก็เบ้าหลอมระเบิดเปลวไฟปะทุถึงหลังคาก็บ่อย ถ้าเป็นคนธรรมดาก็อาจจะถอดใจไปแล้ว แต่ระดับประธานโตโยต้า มีหรือจะยอมแพ้ง่าย ๆ ในที่สุดเครื่องยนต์ที่พร้อมจะใช้งานก็ถูกสร้างจนสำเร็จ บทเรียนที่คุณ Kiichiro สอนผมน่าจะเป็นเรื่องของหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ครับ การจะทำอะไรใหม่ ๆ บางครั้งสิ่งที่สำคัญกว่าความรู้คือความอดทนครับ
3) 1950-1961: Taizo Ishida
คุณ Taizo Ishida ก็เป็นอีกท่านที่เริ่มงานจากธุรกิจทอผ้า ชีวิตของคุณ Ishida ก็ดูเหมือนว่าจะไปได้สวยในด้านธุรกิจ แต่แล้วในช่วงปี 1950 ก็มีเหตุให้เขาต้องรับศึกหนักในบริษัทรถยนต์ เพราะจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ถูกดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างหนัก รัฐบาลเรียกร้องภาษีจากบริษัทเพิ่มขึ้น มูลค่าวัตถุดิบถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โรงงานเกิดสภาวะขาดทุนและจำเป็นต้องปิดตัวพร้อม ๆ กับที่ต้องเลิกจ้างพนักงาน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้พนักงานไม่พอใจ ประท้วงหยุดงานและบานปลายจนทำให้คุณ Kiichiro ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกพร้อม ๆ กับเลิกจ้างพนักงานบางส่วน และคนที่มารับตำแหน่งต่อคือคุณ Taizo Ishida นั่นเอง
ในภาวะที่สถานการณ์การเงิน ขวัญและกำลังใจของพนักงานย่ำแย่ คุณ Ishida ได้ใช้วิสัยทัศน์ทำให้บริษัทรอดมาได้ เขาลงทุนในเครื่องจักร ทำให้มีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่งอย่างนิสสัน และเป็นที่มาของการว่าจ้างให้ผลิตรถยนต์เพื่อสงครามในเกาหลี ในวิกฤต ผู้คนจะค้นหาไอเดียดี ๆ อย่างละโมบได้มากที่สุด
4) 1961-1967: Fukio Nakagawa
ในช่วงปี 1955-1970 หลังสงครามโลก นับเป็นยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอีกครั้งของญี่ปุ่น อัตราการเติบโตที่สูงมากผลักดันให้ยอดขายสูงตาม นับเป็นขาขึ้นของวงการรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ในช่วงเวลานั้นมีการรวมตัวก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานความแข็งแกร่งภายในประเทศให้พร้อมต่อกรกับการจำหน่ายรถยนต์ไปยังต่างประเทศ คู่แข่งในประเทศก็ได้กลายเป็นพันธมิตรยามออกนอกบ้าน ในปี 1966 ก็ได้มีการตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยประธานในยุคนั้น คุณ Fukio Nakagawa ท่านตัดสินใจลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับบริษัท Hino ยักษ์ใหญ่ทางด้านวงการรถยนต์ขนาดใหญ่ Hino มีดีด้านรถยนต์ใหญ่ Toyota เก่งในเรื่องการผลิตและรถยนต์เล็ก (สมัยนั้น)
Hino มีของดีแต่ไม่มีที่จำหน่าย Toyota มีที่จำหน่ายและต้องการของขายเพิ่ม Hino ได้ฐานลูกค้าจาก Toyota เพิ่ม Toyota ก็ได้ฐานลูกค้าจาก Hino เพิ่มเช่นกัน การร่วมมือกันครั้งนี้จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย การหาพันธมิตรในเวลาที่เหมาะสมนั้นจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด นี่คือบทเรียนที่คุณ Nakagawa ทิ้งไว้ให้
5) 1967-1982: Eiji Toyoda, founder’s cousin (honorary adviser)
ภายหลังจากที่คุณ Fukio เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจ รองประธานในตอนนั้น คุณ Eiji Toyoda ก็ก้าวขึ้นมารับหน้าที่ต่อชายผู้นี้ร่วมกับคุณ Taiichi Ohno เป็นผู้วางรากฐานระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) และรากฐานปรัชญาหลาย ๆ อย่างของคุณ Eiji ก็ถูกนำมาต่อยอดเป็น Toyota way ในเวลาต่อมา วลีเด็ดที่ผมชอบที่สุดจากท่านก็คือ
“สร้างคนก่อนสร้างผลิตภัณฑ์”
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคนในองค์กรนี้ และนำมาสู่ส่วนหนึ่งของปรัชญา Respect and Teamwork ในวิถีโตโยต้าอันโด่งดังด้วย มีอีกคำพูดหนึ่งในโตโยต้าเช่นกันครับที่ผมชอบมาก
トヨタにとって人材でなく人財だ!!!
ที่โตโยต้า คนไม่ใช่ทรัพยากร แต่เป็นสินทรัพย์
แปลเป็นไทยอีกที คือ คนไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาใช้เพื่อสร้างผลกำไรแต่คนเป็นสินทรัพย์อันมีค่าที่สามารถทำให้เกิดกำไร และด้วยความที่คุณค่าของสินทรัพย์นั้นมากมายมหาศาล การรักษาสินทรัพย์นั้นให้อยู่กับบริษัทได้นานที่สุดคือเรื่องสำคัญ
6) 1982-1992: Shoichiro Toyoda, founder’s son (honorary chairman, board member)
ในยุคถัดมาของโตโยต้า ก็ยังคงสืบทอดโดยคนตระกูลโตโยดะต่อไป คราวนี้เป็นโอกาสของคุณ Shoichiro Toyoda ในยุคสมัยนี้จะเรียกว่าตั้งไข่สำเร็จ ยืนแข็ง พร้อมจะวิ่งก็ว่าได้ เพราะยอดสะสมการผลิตรถยนต์ในประเทศครบ 50 ล้านคัน ยอดส่งออกไปต่างประเทศครบ 20 ล้านคัน เรียกว่าในบ้านนิ่งแล้ว พร้อมจะวางแผนเอารถไปขายต่างประเทศมากขึ้น แต่ที่เป็นกระแสในสังคมยุคนั้นจริง ๆ คือ การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของ โตโยต้า มอเตอร์ กับ โตโยต้า มอเตอร์เซลส์ บริษัทพี่น้องที่ต้องแยกตัวออกจากกันเพราะปัญหาสงคราม (ช่วงเดียวกับที่ประธาน Kiichiro ต้องลาออก) การรวมครั้งนี้เองที่ทำให้คุณ Shoichiro ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งประธานของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์เซลส์ ได้กลายเป็นประธานในบริษัทใหม่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (ชื่อในปัจจุบัน) หลังรวมร่างไม่นานนัก คุณ Shoichiro ก็แสดงวิสัยทัศน์ออกมาผ่านการประกาศ 3 ข้อ 2 ใน 3 นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกค้าครับ
สร้างสโลแกน Customer first ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรกเสมอ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการรวมกัน (ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงเป็นต้น) นั้นจะกลับคืนลูกค้าในรูปของรถยนต์ราคาย่อมเยาที่มีคุณภาพ นับเป็นอีกหนึ่งสโลแกนที่ยังคงฮิตติดปากของคนในบริษัทครับ
7) 1992-1995: Tatsuro Toyoda, founder’s son (senior adviser)
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประธานบริษัทเป็นคนจากตระกูลโตโยดะสามคนติดต่อกัน คุณ Tatsuro ผู้เป็นน้องชายของคุณ Shoichiro และลูกชายของคุณ Kiichiro ก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากพี่ชายของเขา น่าเสียดายที่ด้วยปัญหาสุขภาพ คุณ Tatsuro ไม่สามารถที่จะดำรงตำแหน่งประธานได้นานนัก เพียง 3 ปี ท่านก็ลงจากตำแหน่ง
โชคร้ายอีกอย่างคือในยุคสมัยของท่านนั้น ญี่ปุ่นเริ่มเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินก็ไม่เป็นใจนัก แต่สิ่งที่มีความโดดเด่นในยุคนี้คือมีการรวบรวมปรัชญาองค์ความรู้ที่มีในองค์กรมาตกผลึกและนำมาประกาศเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยความตระหนักที่อยากจะให้องค์กรนี้เติบโตอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความสำเร็จที่ตัวเองค้นพบครับ มันชื่อว่า Guiding Principles at Toyota 1992 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Toyota way ก็ว่าได้
8) 1995-1999: Hiroshi Okuda (senior adviser, board member)
ผู้ที่รับไม้ต่อจากคุณ Tatsuro นั้นก็คือท่านประธาน Okuda ผู้ซึ่งมีฉายาว่า “มนุษย์ตัวเลข” (คุณพ่อของท่านทำงานในตลาดหุ้น) ในยุคสมัยนี้โตโยต้าเผชิญกับความลำบากครั้งใหญ่เพราะเป็นครั้งแรกที่ส่วนแบ่งในประเทศต่ำกว่า 40% เดือดร้อนประธานอย่างคุณ Okuda ต้องทำการบ้านหนัก ผลการสำรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ของโตโยต้านั้นดูเหมือนจะตกเทรน (มือถือเริ่มมาแล้ว) ทำให้คุณ Okuda ประกาศออกสื่อว่าจะทำการปฏิวัติรูปแบบการทำงานของโตโยต้า โดยที่ไม่ทำให้องค์กรสะดุดด้วย แต่จะปฏิวัติรูปแบบแต่ไม่ให้หยุดปรับปรุงด้วยได้ยังไงกัน คุณ Okuda สร้างบริษัทเงาขึ้นมาบริษัทหนึ่งชื่อ Virtual Venture Company ที่เน้นให้พนักงานในบริษัทเป็นกลุ่มคนอายุ 20 ถึง 30 และให้คนกลุ่มนี้เสนอไอเดีย รวมถึงมีการตัดสินใจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น (รูปทรง การใช้งาน เป็นต้น) ผลที่ได้ก็น่าสนใจ รถยนต์ที่เกิดจากโครงการนี้ที่ยังดัง ๆ มาจนวันนี้ก็ได้แก่ BB นั้นเองครับ นอกจากนี้ Prius อันเลื่องชื่อก็เกิดในยุคสมัยนี้เช่นกัน
บทเรียนในยุคสมัยประธาน Okuda ก็คงไม่พ้นการระมัดระวังไม่ให้ความสำเร็จนั้นอิ่มตัวและย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองแม้วันที่เป็นอันดับ 1 ก็จงถามตัวเองต่อไปว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ไม่ต้องชนะใคร ชนะตัวเองก็พอ เพราะการไม่หยุดพัฒนา คือ หัวใจของธุรกิจที่ยั่งยืนครับ
9) 1999-2005: Fujio Cho (board chairman)
แล้วก็มาถึงท่านประธานอีกคนที่ผมชื่นชอบ คุณ Fujio Cho ครับ ท่านจัดว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของปรมาจารย์ Eiji Toyoda และ Taiichi Ohno ผู้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปรัชญาโตโยต้าขึ้นมาก็ว่าได้
ในวันที่คุณ Cho เป็นประธาน (คนแรก) ของโรงงาน Georgetown ที่สหรัฐอเมริกา สิ่งแรก ๆ ที่เขาถ่ายทอดให้พนักงานคือ การจ้องมองปัญหาที่หน้างาน ถามว่าทำไมหลาย ๆ ครั้ง เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาและให้ความเคารพต่อคนที่อยู่ที่พื้นที่ปฏิบัติงาน เพราะความเคารพซึ่งกันและกันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และก็เป็นคุณ Cho นี่เองที่นำ Guideline of Toyota principle มาขัดเกลาใหม่ให้เป็น Toyota way ที่มี 2 เสา 5 ข้อดั่งปัจจุบัน ที่ผมชอบเพราะท่านมีรอยยิ้มที่เป็นมิตรมากครับ เคยมาที่บริษัทหนสองหน เป็นกันเองกับผู้รายงานอย่างพวกผมมาก ๆ ครับ ผมเลยชอบ 555
10) 2005-2009: Katsuaki Watanabe (president, to become vice chair)
ยุคถัดมาเป็นยุคที่เรียกว่าสุดยอดอีกยุคหนึ่งก็ว่าได้ครับ ยุคของคุณ Watanabe นั้น โตโยต้าสร้างผลกำไรได้มากเป็นประวัติการณ์ จนหัวหน้าผมเล่าให้ฟังว่าเห็นโบนัสตัวเองแล้วตกใจ ทำงานมายี่สิบกว่าปีไม่เคยได้มากขนาดนี้ ยุคนี้จุดเด่น ๆ คือมี Champion product เกิดขึ้นเยอะมากครับ ขายดีในหลาย ๆ ทวีป ไม่ว่าจะ IMV series ที่เรารู้จักกันในนาม วีโก้ ฟอร์จูนเนอร์ นั่นแหละฮะ หรือจะโคโรลล่าและคัมรี่ซีรีส์ที่ขายดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากยอดขายจะดีแล้วด้วย วิสัยทัศน์ของแม่ทัพ Watanabe ที่ใช้ข้อได้เปรียบทางด้านการผลิตให้หลากหลายรุ่น แต่ใช้ชิ้นส่วนหลาย ๆ อย่างร่วมกัน (Common part) ทำให้ Toyota สร้างผลกำไรเป็นประวัติการณ์นั่นเองครับ ส่วนบทเรียนที่ผมได้จากคุณ Watanabe จริง คือ Mindset ของการเรียนรู้ครับ Quote ของท่านเกือบทุกอันแฝงความคิดเรื่องการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด การไม่หยุดเรียนรู้ครับ นอกจากอันในภาพแล้วยังมีอีกอันที่สะท้อนความคิดของท่านครับ
There’s no end to the process of learning about the Toyota Way. I don’t think I have a complete understanding even today, and I have worked for the company for 43 years.
ขนาดทำงานมา 40 กว่าปี ดำรงตำแหน่งประธาน ยังคิดว่าตัวเองเรียนรู้ไม่หมดเลย สุดยอดไหมล่ะครับ
11) June 2009 – Present: Akio Toyoda (executive vice president) Source: Toyota Motor
แล้วก็เดินทางมาถึงท่านประธานคนปัจจุบันผู้ซึ่งหลงใหลการขับรถเป็นชีวิตจิตใจ แม้การเริ่มต้นการเป็นประธานของท่านจะยากลำบากมาก เพราะพบกับสภาพเศรษฐกิจซบเซาจากวิกฤตซับไพรม์ที่อเมริกากับปัญหาเรื่องคุณภาพเยอะมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีผู้เสียชีวิตจากการใช้งานรถยนต์เลกซัสและปัญหาคันเร่งและเบรก ซึ่งทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้บริโภค ที่นั่นคุณ Akio ถึงกับต้องไปขึ้นศาลที่อเมริกา เป็นข่าวดังทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก (อันนี้ไว้มีโอกาสจะมาขยายความกันนะครับ)
หลังจากพ้นวิกฤตมาได้ สิ่งที่คุณ Akio ตกผลึกเป็นวิสัยทัศน์คือจากนี้ไปบริษัทที่ชื่อโตโยต้าจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ (ให้ดียิ่ง ๆ กว่าเดิม) เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถที่ดีและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของพวกเขา และจะเลิกสนใจว่าบริษัทจะเป็นบริษัทที่ทำยอดขายและกำไรได้มากเท่าไหร่ นับว่าตรงประเด็นกับยุคสมัยนี้ ยุคที่เป็น Outside in product อย่างแท้จริง มุ่งเน้นว่าลูกค้ามี Pain ตรงไหน แล้วบริษัทสามารถจะแก้ปัญหาอะไรให้กับลูกค้าได้บ้าง (ไม่ใช่เราผลิตอะไรได้บ้าง ผลิตให้ดีที่สุดแล้วเอาออกมาขายอีกต่อไป) ด้วยแนวคิดนี้ เราจึงได้เห็นการกลับมาของรถสปอร์ตหลาย ๆ รุ่นทั้ง 86, New supra New MR2 รวมถึงรถที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกมากมายทั้ง Mirai, I-road ปัจจุบัน Toyota ก็ขยาย Vision ของตัวเองจากการขายรถเป็นให้บริการการเคลื่อนที่แทน (ลองติดตามข่าวกันดูนะครับ)
คงยากจะเป็นการบอกว่าคุณ Akio จะดำรงตำแหน่งต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่เชื่อว่าแฟนพันธุ์แท้ของโตโยต้าน่าจะชื่นชอบวิสัยทัศน์ของท่านไม่มากก็น้อย